เดิมพัน “โครงสร้างราคา” ใหม่ ชี้อนาคตอุตฯ ปาล์มน้ำมันไทย

29 พ.ย. 2567 | 04:30 น.
6.4 k

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิต นํ้ามันปาล์มเป็นลำดับ 3 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 4 ของประมาณการผลผลิตโลก แต่อัตราการสกัดนํ้ามันปาล์มของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ตํ่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน

โดยอัตราการสกัดนํ้ามันปาล์มเฉลี่ยของมาเลเซีย อยู่ที่ 19.85% ขณะของไทย อยู่ที่ 18.28% และหากอัตราการสกัดนํ้ามันปาล์มปรับเพิ่มขึ้น 1% จะช่วยให้มีปริมาณนํ้ามันปาล์มดิบ ทั้งระบบเพิ่มขึ้น 0.20 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารายได้ของเกษตรกรและอุตสาหกรรมนํ้ามันปาล์มเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 ล้านบาท (คำนวณจากราคานํ้ามันปาล์มดิบที่ 30 บาทต่อกิโลกรัม) 

 

ก่อนผลการศึกษา โครงสร้างราคาปาล์มฯ

 

ทั้งนี้ยังเป็นข้อถกเถียงระหว่างฝ่ายโรงงาน ฝ่ายเกษตรกร ลานเท ว่าใครได้ ใครเสียในเปอร์เซ็นต์นํ้ามันปาล์มและอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามันที่ยังไม่มีโครงสร้างราคา ทำให้การซื้อขายผลปาล์มนํ้ามันผันผวนขึ้นลงเร็วเกินไป และเป็นช่องโหว่ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบทางการค้า

 

โครงสร้างใหม่เตรียมเสนอ กนป.

สำหรับในเรื่อง “โครงสร้างราคาผลปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์ม” เคยมีการศึกษาในเรื่องนี้ไปแล้วหนึ่งครั้ง โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างราคาผลปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์ม มีกรมการค้าภายใน เป็นฝ่ายเลขานุการฯได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เป็นผู้ทำการศึกษา แต่ผลการศึกษาที่ได้ยังไม่เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน และในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 มีมติมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สนับสนุนทุนเพื่อศึกษาสมการโครงสร้างราคาผลปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์มอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ได้รับเงินทุนแล้ว

 

โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการ มีระยะเวลาโครงการตั้งแต่ ต.ค.2566-มี.ค.2567 ซึ่งขณะนี้ผลการศึกษาได้เสร็จสิ้นแล้ว และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะเลขานุการ กนป.กำลังนำผลงานวิจัยส่งให้ทุกภาคส่วนไปวิเคราะห์ผลดี ผลเสีย หรือข้อเสนอแนะ เพื่อรวบรวมนำเสนอเข้า กนป.ในเร็ว ๆ นี้

 

เดิมพัน “โครงสร้างราคา” ใหม่  ชี้อนาคตอุตฯ ปาล์มน้ำมันไทย

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.บุรินทร์  สุขพิศาล” อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกนป.และในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ถึงผลสำเร็จการศึกษาโครงสร้างราคาปาล์ม และความคาดหวังที่จะเห็นผลงานวิจัยได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน และนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้จริง

 

ถอดบทเรียนมาเลย์-อินโดฯ

ดร.บุรินทร์ กล่าวว่า โครงสร้างราคาผลปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์มที่ได้จัดจ้าง มสธ.ทำการศึกษา เป็นคณะแรก ได้ทำการศึกษาโครงสร้างราคา ตั้งแต่ต้นนํ้า (ผลปาล์มนํ้ามัน) ถึงปลายนํ้า  (นํ้ามันปาล์มบริโภคบรรจุขวด 1 ลิตร) แต่ก็ไม่สามารถถอดสูตรโครงสร้างราคาปาล์มนํ้ามันออกมาได้ ทำให้ยังมีปัญหาระหว่างเกษตรกร โรงสกัด รวมถึงโรงกลั่นที่ผลิตปาล์มบริโภค ไม่สามารถที่จะสรุปได้ว่าต้นทุนแต่ละส่วนอยู่ที่เท่าไรกันแน่ ฝ่ายโรงงานส่งสูตรไปเกษตรกรก็ไม่ยอมรับ

 

“สาเหตุที่ไม่ยอมรับเพราะผู้ทำงานวิจัย ใช้วิธีสอบถามว่าแต่ละภาคส่วนมีต้นทุนเท่าไร ซึ่งโดยข้อเท็จจริงไม่มีใครอยากจะบอกต้นทุนที่แท้จริง ทั้งเกษตรกร โรงสกัดปาล์ม พอผลลัพธ์ออกมาก็ไม่มีใครยอมรับ ทำให้โครงสร้างราคาปาล์มเกิดขึ้นไม่ได้ ขณะที่มาเลเซีย ทำโครงสร้างราคาปาล์มสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยบริบทของอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามันของมาเลเซีย มีเกษตรกรทำสวนปาล์มขนาดใหญ่เป็นแสนไร่ และ มีโรงสกัด ที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายหรือบริษัทลูก ไม่ใช่การขายผ่านลานเท หรือพ่อค้าเป็นผู้รวบรวม”

 

เดิมพัน “โครงสร้างราคา” ใหม่  ชี้อนาคตอุตฯ ปาล์มน้ำมันไทย

 

“บายโปรดักส์” ขุมทองเกษตรกร

แต่ของในไทยจะมีลักษณะขายแบบเป็นช่วง ๆ คนละเจ้าของ แต่ละธุรกิจก็หวังกำไร ดังนั้นเมื่อมีบายโปรดักส์ เพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลซึ่งเป็นผลพลอยได้จากโรงสกัดที่รับซื้อปาล์มจากเกษตรกร แล้วทุกคนก็ทราบว่าการได้กำไรอยู่ในช่วงนี้ พอศึกษาก็เข้าใจว่า กำไรจากผลพลอยได้ทำไมมาเลเซีย และอินโดนีเซีย จึงแบ่งให้เกษตรกรได้ โดยเมื่อรับซื้อปาล์มนํ้ามันจากเกษตรกรแล้ว นอกจากให้ราคาตามเปอร์เซ็นต์นํ้าปาล์มแล้ว จะบวกราคาในส่วนนี้ให้ด้วย จึงทำให้ราคารับซื้อปาล์มในมาเลเซียราคาสูงกว่าในประเทศไทย

 

เดิมพัน “โครงสร้างราคา” ใหม่  ชี้อนาคตอุตฯ ปาล์มน้ำมันไทย

 

โครงสร้างราคาปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์ม เกิดจากเกษตรกรเรียกร้องที่อยากให้มีรูปแบบเหมือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย แล้วเกิดการยอมรับ และเมื่อศึกษาแล้วก็จะต้องไปพิจารณาต่อว่ากฎหมายทั้ง 2 ประเทศใช้วิธี หรือรูปแบบใดมาบังคับใช้ ถอดบทเรียนมาใช้กับไทยได้หรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทำตามใจตัวเองไม่ได้ ซึ่งมาเลเซียเองก็ใช้เวลาหลายปีกว่าจะบังคับใช้กฎหมายโครงสร้างราคาปาล์มเพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย”

 

เดิมพัน “โครงสร้างราคา” ใหม่  ชี้อนาคตอุตฯ ปาล์มน้ำมันไทย

 

ดังนั้นหากจะทำให้สำเร็จเรื่องโครงสร้างราคา จะต้องมีกฎหมายรองรับและมีอำนาจบังคับใช้ ซึ่งหากโรงสกัด และเกษตรกร ทะเลาะกันหรือไม่เห็นด้วยก็เดินยาก จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงอุตสาหกรรมปลายนํ้า ต้องมีเหตุผล อย่าเพียงแต่คิดเอาผลประโยชน์เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหลัก

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,049 วันที่ 1 - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2567