วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2568) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. .... หรือ เออรี่รีไทร์ทหาร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ทั้งนี้มีสาระสำคัญเป็นการจูงใจข้าราชการทหารที่ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการและประจำหน่วยให้ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุราชการโดยสมัครใจ เพื่อลดความคับคั่งของกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูง
โดยให้ข้าราชการทหารที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น ต้องเป็นทหารชั้นยศ พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอกขึ้นไป ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และมีเวลาราชการ 25 ปีขึ้นไป (ไม่รวมเวลาราชการทวีคูณ) ที่ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุ
ทั้งนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินก้อน 7 - 10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย รวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) โดยไม่รวมเงินหรือค่าตอบแทนพิเศษอื่น ๆ ตามสูตรการคำนวณ คือ เงินก้อน = [5 + อายุราชการที่เหลือ (ปี)] X เงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) แต่สูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย รวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี)
อีกทั้งยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น การยกเว้นภาษีเงินก้อนที่ได้รับตามโครงการ การยกเว้นภาษีในส่วนของเงินที่ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลัง ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยการดำเนินโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด จะใช้เงินงบบุคลากรของกระทรวงกลาโหม ภายในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท โดยไม่ต้องของบกลางเพิ่มเติม ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2570 (วงเงิน 200 ล้านบาท/ปี) โดยประมาณการผู้เข้าร่วมโครงการฯ รวม 3 ปี ประมาณ 732 นาย (ปีละ 244 นาย)
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งของกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูงซึ่งเป็นปัญหาในการบริหารจัดการกำลังผลของกระทรวงกลาโหม ในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความสมดุลของสัดส่วนกำลังพลในทุกระดับ รวมถึงเป็นการประหยัดงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐในระยะยาว ทำให้การพัฒนาระบบบริหารจัดการของกระทรวงกลาโหม และการพัฒนากองทัพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ