วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2568) นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะได้เกิดขึ้นจากการที่บทบัญญัติบางมาตรา กำหนดให้ทรัพย์สินหรือเงินที่เจ้าของไม่มาขอรับภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งอาจขัดหรือแย้งต่อมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เป็นประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติอันเกิดจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนี้
แก้ไขระยะเวลาที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน มีอำนาจอนุมัติให้ขยายระยะเวลาในการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นของคณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นและเงินค่าทดแทน โดยกำหนดให้ขยายได้เท่าที่จำเป็นแต่ต้องไม่เกิน 180 วัน เพื่อให้คณะกรรมการฯ มีระยะเวลาดำเนินการที่เหมาะสม (เดิมขยายได้ไม่เกิน 90 วัน)
แก้ไขเพิ่มเติมให้เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกรื้อถอนหรือผู้มีสิทธิได้เงินค่าทดแทน ยังคงมีสิทธิขอรับเงินที่เกิดจากการเวนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย โดยไม่ตัดสิทธิในเงินดังกล่าว แม้พ้นกำหนดระยะเวลาขอรับเงินตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
1. กำหนดให้ในการรื้อถอนโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์เจ้าหน้าที่มีหน้าที่แจ้งให้เจ้าของทรัพย์สินมารับทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่รื้อถอนคืนไปภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วเจ้าของไม่มารับทรัพย์สินคืนไป ให้เจ้าหน้าที่ขายทรัพย์สินนั้น โดยวิธีการขายถอดตลาดหรือวิธีอื่นตามที่เห็นสมควรแล้วนำเงินที่ได้จากการขายส่งคืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน
นอกจากนี้หากเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ขายทรัพย์สินนั้นและเจ้าของมารับคืน ให้เจ้าหน้าที่คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่เจ้าของไป โดยไม่มีเงื่อนไขเวลา (จากเดิมในกรณีที่เจ้าของมิได้เรียกเอาทรัพย์สินหรือเงินที่เจ้าหน้าที่เก็บรักษาไว้คืน ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่มีการรื้อถอนหรือขนย้าย ให้ทรัพย์สินหรือเงินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน)
2. กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ถอนเงินค่าทดแทนที่วางไว้ต่อศาล หรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้กับธนาคารออมสิน เพื่อส่งคืนคลัง เมื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนไม่มารับภายใน 5 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับเงินค่าทดแทนหรือนับแต่วันที่คดีที่สุดหรือนับแต่วันที่ได้ฝากเงินไว้
โดยไม่ได้ตัดสิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่จะยื่นคำร้องขอรับเงินค่าทดแทนคืนภายหลังจากพ้นระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว (เดิมเงินค่าทดแทนที่วางไว้ถ้าผู้มีสิทธิไม่ไปขอรับเงินภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีหนังสือแจ้งหรือวันที่ปิดประกาศ ให้เงินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน)
แก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลผู้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล กรณีไม่พอใจเงินค่าทดแทน ครอบคลุมถึงผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในทุกกรณี เช่นเดียวกับการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 492
โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลและมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทน ซึ่งผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ได้แก่ เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืน เจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เจ้าของต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ดินผู้เช่าหรือผู้เช่าช่วงที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นในที่ดินที่ต้องเวนคืน บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืน
รวมทั้งผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากต้องการออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน (เดิมกำหนดให้เจ้าของที่เท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลและมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทน ซึ่งตามบทนิยามเจ้าของ หมายถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยชอบด้วยกฎหมาย)
กำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการ ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาการคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาทประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เวนคืนเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกรมที่ดินเป็นกรรมการ (ได้ตัดผู้แทนสำนักงบประมาณและผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินออก เนื่องจากมิใช่หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาท เพื่อให้คณะกรรมการมีความคล่องตัวมากขึ้น)