นายนภินทร ศรีสรรพางค์ แถลงผลการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกัน และป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) ครั้งที่ 3 (1/2568) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมฯ ได้มีการตั้งคณะทำงาน 1 ชุด เพื่อตรวจสอบเชิงลึก โดยมี นายจักรา ยอดมณี รองปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ ทั้งส่วนกลาง และภูมิภาคทุกจังหวัด เพื่อลงไปตรวจสอบในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และให้รายงานผลทุก 3 เดือน ซึ่งคณะทำงานนี้ จะทำงาน ภายใต้ “คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย” เพื่อดูแลสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพด้วย
สำหรับคณะทำงานชุดนี้จะทำงานเชิงรุก โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับนอมินี และการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐานมาทำงานร่วมกัน ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยจะเอกซเรย์ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อกวาดล้างนอมินีและสินค้านำเข้าไม่ได้มาตรฐาน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเร็ว ๆ นี้
โดยคณะทำงานชุดนี้จะประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.), จังหวัด, องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น, ตรวจคนเข้าเมือง, ศุลกากร, สำนักงานพาณิชย์จังหวัด, จัดหางานจังหวัด, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กรมการท่องเที่ยว, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลการปราบปรามนอมินีตั้งแต่เดือน ก.ย. 67 -ม.ค. 68 สามารถจับกุมดำเนินคดีธุรกิจนอมินีรวมทั้งสิ้น 820 ราย มีมูลค่า ความเสียหายรวมกว่า 12,495 ล้านบาท (ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 - 31 มกราคม 2568) โดยแบ่งเป็น 4 ประเภทธุรกิจ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า พฤติกรรมของธุรกิจนอมินี มักจะเอาชื่อคนไทย มาใช้ผู้ก่อตั้งนิติบุคคล ไม่ใช่คนไทยแท้ อีกทั้งมีพฤติกรรมผ่านการรับคำปรึกษาสำนักที่ปรึกษากฎหมายบัญชี ก่อนเข้ามาจดทะเบียน
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้สร้างระบบตรวจสอบ ผ่านเว็บไซต์กรมฯ เพื่อเปิดให้ประชาชน ที่กังวลว่า สถานที่ หรือ ที่อยู่ ของตนเอง อาจจะถูก มิจฉาชีพ นำไปใช้เป็นสถานที่จัดตั้งบริษัทนิติบุคคล ซึ่งหากพบสามารถแจ้งกลับได้ที่สายด่วน 1570 เพื่อดำเนินการต่อในเบื้องต้น จะทำหมายเหตุ ในหนังสือรับรองบริษัท ว่า ไม่มีสถานที่ตั้ง และดำเนินการสอบสวน โดยส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะมีการดำเนินคดี ตามกฏหมายอาญามาตรา 267 ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการทำระบบวิเคราะห์ข้อมูลนิติบุคคล เพื่อติดตามพฤติกรรม ที่น่าสงสัยว่าอาจจะแฝงมากระทำความผิด เช่น การแก้ไขเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น หรือ สถานที่ตั้ง เพื่อประสานข้อมูลกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดติดตามผู้กระทำความผิดให้รวดเร็วมากขึ้น
ขณะที่ การแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เบื้องต้น คณะกรรมการอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (นอมินี) ได้รับข้อมูลจากศูนย์ AOC 1441 กระทรวงดีอี พบบัญชีม้าในบัญชี 003 เพื่อตรวจสอบผู้ถือหุ้นในบริษัทใดบ้าง ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้รับรายชื่อ บุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นมิจฉาชีพเปิดบัญชีม้า รวม 3 ครั้ง ครั้งแรก 67,000 รายชื่อ ครั้งที่สอง 65,000 รายชื่อ ครั้งที่ 75,000 รายชื่อ
ซึ่งจากการตรวจสอบ รายชื่อทั้งหมด ว่ามีชื่อ อยู่ในนิติบุคคลในบริษัทไหนบ้าง พบว่า มีรายชื่อทั้งคนไทย และต่างด้าว ที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ทั้งหมด 1,159 บริษัท ซึ่งได้ส่งข้อมูลกลับไป AOC เพื่อดำเนินการส่งต่อ ไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการต่อแล้ว