“AIS-TRUE” เปิดศึกชิงคลื่นความถี่ 2100 กับ 2300 เมกะเฮิรตซ์

05 ก.พ. 2568 | 08:08 น.

สองค่ายมือถือประกาศชิงคลื่น “สมชัย” เผยสนใจทุกคลื่นแต่ขอดูราคากลางที่ กสทช.กำหนดแจงที่ผ่านมา 2 ค่ายมือถือ จ่ายคลื่นร่วมกันกว่าค่ายละ 2 แสนล้านบาท แนะราคากลางควรสมเหตุสมผล

 จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่  และ ได้เผยแพร่ (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล แบ่งเป็น

  • ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์
  • ย่าน1500 เมกะเฮิรตซ์
  • ย่าน1800 เมกะเฮิรตซ์
  • ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์
  • ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์
  • ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์

โดยบอร์ด กสทช.ได้วางไทม์ไลน์เปิดประมูลปลายเดือนเมษายน 2568

 

“AIS” สนใจทุกย่านความถี่

 

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เปิดเผยว่า AIS มีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ทุกย่านความถี่ที่ กสทช.เปิดประมูล แต่ AIS ต้องขอดูราคากลางที่ กสทช.กำหนดรูปแบบเป็นทางการ และ ขึ้นอยู่กับคู่แข่งด้วย

“เราจะเห็นได้ว่าในเวลานี้รัฐบาลแทบไม่ได้ลงทุนด้านโทรคมนาคม มีแต่ภาคเอกชนที่ลงทุนทั้งหมดเพื่อให้บริการกับประชาชน ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้จ่ายค่าคลื่นความถี่ให้กับ กสทช. ไปแล้วรายละกว่า 2 แสนล้านบาท  ในความเป็นจริงแล้ว กสทช.ควรจะให้คลื่นความถี่ฟรีเสียด้วยซ้ำ ทั้งโลกจัดสรรคลื่นความถี่ฟรีให้กับเอกชนหมดแล้ว ในประเทศเยอรมันนี ประมูลคลื่นความถี่ในราคาสูงสุดท้ายก็ไปต่อไม่ได้ ปัจจุบันในต่างประเทศยกเลิกการประมูลหมดแล้ว แต่ในประเทศไทย กสทช.ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ฟรีได้เนื่องจากมีข้อกฏหมาย”

 

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์

นายสมชัย ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ดังนั้นราคากลางประมูลคลื่นความถี่ ควรจะต้องสมเหตุสมผลไม่ใช่อ้างอิงจากราคาจากต่างประเทศและนำราคาประมูลเก่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วมาเป็นราคากลางไม่ถูกต้อง

เป้าหมาย กสทช.ต้องทำอย่างไรให้ผู้บริโภคใช้ระบบ 4 จี  และ ระบบ 5 จี ให้มากขึ้นปัจจุบันผู้บริโภคยังใช้ระบบ 2 จี และ 3 จี เหมือนเดิมถ้าเอกชนลงทุนเครือข่ายไป กสทช. ก็ควรจะแบกรับภาระตุ้นทุนค่าเครื่องเพื่อให้เอกชนให้มาใช้ระบบ 4 จี และ 5 จี เพื่อจะได้ใช้ดิจิทัลวอลเล็ต และ เพื่อยกระดับโครงการสร้างพื้นฐานของประเทศ

 

“TRUE” ปักธง 2100 กับ 2300 เมกะเฮิรตซ์

 

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า TRUE  สนใจที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 2100 กับ 2300 เมกะเฮิรตซ์ เพราะทั้งสองคลื่นความถี่ TRUE มีความเชื่อมั่นในคุณสมบัติของเทคโนโลยี เพื่อมาต่อยอดคลื่นความถี่เดิมที่มีอยู่ สำหรับคลื่นความถี่ 6G เป็นเทคโนโลยีในอนาคตที่ยังไม่ถึง

 

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช

กางแผนราคาเริ่มต้นคลื่นมือถือ

  •  คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 6,609 ล้านบาท
  • คลื่น 1500 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 11 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 904 ล้านบาท ค
  • ลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 6,219 ล้านบาท
  • ความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 12 ชุด ความถี่ ใบอนุญาตละ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 3,391 ล้านบาท (FDD)
  • ความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 497 ล้านบาท (TDD)
  • ความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 1,675 ล้านบาท
  • ความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 100 เมกะเฮิรตซ์ ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท
  • รวมการเปิดประมูลครั้งนี้ทั้งสิ้นจำนวน 450 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 121,026 ล้านบาท

 

เงื่อนไขการชำระค่าคลื่นความถี่


งวดที่ 1 : 50% ของราคาชนะการประมูล ในปีที่ได้รับอนุญาต

งวดที่ 2 : 25% ของราคาชนะการประมูลในปีที่ 2

งวดที่ 3 : 25% ของราคาชนะการประมูลในปีที่ 4 ส่วนย่านความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ ชำระ 100% ของราคาชนะการประมูลทันที.