กสทช.แจงเงื่อนไขและวิธีประมูลคลื่นความถี่ระบบวิทยุ FM ระดับภูมิภาค

22 พ.ย. 2567 | 11:12 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2567 | 11:24 น.

กสทช. ชี้แจงการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระบบ FM และเงื่อนไขและวิธีการประมูลสำหรับวิทยุกระจายเสียงประเภทธุรกิจระดับท้องถิ่น

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานการประชุมชี้แจงการยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระบบ FM สำหรับการให้บริการกระจายเสียงประเภทธุรกิจ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งได้กำหนดคลื่นความถี่จำนวน 2,507 คลื่นความถี่

ที่สามารถใช้งานได้ในระดับท้องถิ่น โดยเป็นการชี้แจงกระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตรวมทั้งเงื่อนไขและวิธีการประมูล เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งรายเดิมที่มีอยู่ปัจจุบันจำนวนประมาณ 2 พันกว่าสถานี และ ผู้ประกอบการรายใหม่ ได้เข้าใจและตอบข้อซักถาม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 500 คน

สำหรับการอนุญาตกิจการกระจายเสียงประเภทธุรกิจตามประกาศเชิญชวนนี้ แม้ว่าตามกฎหมายกำหนดให้ต้องใช้วิธีการประมูล อย่างไรก็ตามได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอและเงื่อนไขการประมูล เพื่อมุ่งส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นจริงและป้องกันมิให้เกิดนายทุนเข้ามาผูกขาด โดยมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ เช่น

  • คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีบุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นมีภูมิลำเนาภายในจังหวัดนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้น โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนวันยื่นคำขอ เป็นต้น
  • ผู้ขอรับใบอนุญาตที่มีสิทธิเข้าร่วมประมูล ต้องไม่เป็น “ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน” ทั้งในเชิงบริหารและในเชิงทุน ตามที่ประกาศฯ กำหนด เป็นต้น

 

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

 

 

กสทช.แจงเงื่อนไขและวิธีประมูลคลื่นความถี่ระบบวิทยุ FM สำหรับท้องถิ่น

  • จำนวนใบอนุญาต ระดับท้องถิ่น นั้น กำหนดให้ 1 นิติบุคคล สามารถยื่นคำขอได้สูงสุดไม่เกิน 2 คลื่นความถี่ภายในจังหวัดเดียวกัน และเมื่อสิ้นสุดการประมูลสามารถเลือกเป็นผู้ชนะได้เพียงแค่ 1 คลื่นความถี่ เท่านั้น

โดยจะต้องเตรียมเอกสารที่ใช้ในการยื่นคำขอให้ครบถ้วน และต้องยื่นผ่านระบบ e-BCS ในระหว่างวันที่

28 พ.ย. - 27 ธ.ค. 67 รวมทั้งชำระค่าธรรมเนียมคำขอในอัตรา 5,350 บาท (รวม VAT) ต่อคลื่นความถี่ รวมทั้งหลักประกันการประมูล 10% (2,500 บาท) ของราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่ ที่กำหนดราคาที่ 25,000 บาท ซึ่งหากผู้ประกอบการรายเดิมที่ได้รับอนุญาตให้ทดลองออกอากาศไม่มายื่นภายในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องสิ้นสุดการทดลองออกอากาศภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 นี้ทันที แต่หากมายื่นจะได้รับสิทธิการทดลองออกอากาศต่อตามบทเฉพาะจนกว่า กสทช. จะสั่งไม่ออกใบอนุญาตหรือสั่งเป็นอย่างอื่น เช่นเดียวกับประเภทชุมชนและสาธารณะ

 สำหรับการประมูลจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) โดย กสทช. จะทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอให้แล้วเสร็จ และจะให้ผู้ยื่นคำขอที่ผ่านและมีสิทธิเข้าร่วมประมูลทำการทดลองทดสอบ (Mockup) ก่อนการประมูลจริง โดยคาดว่าจะจัดการประมูลได้ประมาณกลางปีหน้า ซึ่งจะประกาศให้ทราบต่อไป

สำหรับเงื่อนไขและวิธีการประมูล ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถเสนอราคาเพิ่มกี่ครั้งก็ได้ โดยต้องเสนอราคาครั้งแรกสูงกว่าราคาเริ่มต้น และหากต้องการเป็นผู้ชนะต้องเสนอราคาที่สูงกว่าราคาสูงสุด ณ ขณะนั้น สำหรับการเสนอราคาเพิ่มในแต่ละครั้งจะต้องเสนอเป็นจำนวนเต็มเท่าของขั้นราคา 1,000 บาท โดยกำหนดระยะเวลาในการประมูล 60 นาที ต่อ คลื่นความถี่ กรณีสิ้นสุดระยะเวลาการประมูลแล้ว ยังคงมีการเสนอราคาเท่ากัน จะขยายระยะเวลาครั้งละไม่เกิน 5 นาที จนกว่าจะได้ผู้ชนะการประมูล

การยื่นขอรับใบอนุญาตตามประกาศเชิญชวนสำหรับวิทยุกระจายเสียงระดับท้องถิ่นประเภทธุรกิจในครั้งนี้ ต้องใช้วิธีการประมูลตามที่กฎหมายกำหนด แม้ว่าในตอนแรกจะได้รับการคัดค้านจากผู้ประกอบการรายเดิม ที่มีความห่วงใยว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมและไม่ต้องการที่จะปรับตัวเพื่อเข้าสู่ระบบใบอนุญาต เนื่องจากคุ้นเคยกับการเป็น ผู้ทดลองมานานเกือบ 30 ปี อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอขอบคุณที่ปัจจุบันทั้งผู้ประกอบการรายเก่าและผู้ที่สนใจรายใหม่ มีความเข้าใจต่อความมุ่งมั่นของผมและได้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นกันมาโดยตลอด โดยที่การทำหน้าที่ของผมในฐานะ กสทช. ที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ใดๆ ให้ “Free & Fair“  หรือ “เสรีและเป็นธรรม” แก่ประชาชนผู้ประกอบการทุกฝ่ายให้ได้นั้น สิ่งสำคัญ คือ กสทช. ในฐานะผู้ออกหลักเกณฑ์รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะต้อง “Clean & Clear“ หรือ “สะอาดและโปร่งใส” จึงจะทำหน้าที่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี และหากสังคมใดมีหลักเกณฑ์ที่ “Free & Fair“ แล้วจะทำให้สังคมนั้น “Care & Share“ หรือ “ดูแลและแบ่งปัน” กันและกัน ซึ่งหลักการนี้เป็นสิ่งที่ผมถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ศึกษาอยู่ที่ประเทศเยอรมนี และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้กิจการกระจายเสียง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อไป.