นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงหาดใหญ่ – สุไหงโกลก ในทุกๆ ด้านอย่างละเอียด โดยเตรียมเสนอของบกลาง วงเงินประมาณ 80 ล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินการศึกษา
อย่างไรก็ตามหากได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว รฟท. จะดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาโครงการฯ โดยจะใช้ระยะเวลาศึกษา 1 ปี หรือศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2569 ก่อนเข้าสู่กระบวนการออกแบบรายละเอียดในปี 2569 - 2570
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จากนั้นในช่วงปี 2570 - 2571 จะดำเนินการจัดทำรายงานและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการภายในปี 2571 และจะดำเนินการขอออกพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) เวนคืนและเวนคืนที่ดินในปี 2571 - 2573
ขณะเดียวกันระหว่างนั้นจะดำเนินการจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) ราคากลาง และจัดประกวดราคาควบคู่ไปด้วย ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างในปี 2572 คาดว่าแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้บริการในปี 2577
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางหาดใหญ่ – สุไหงโกลก จะมีระยะทางรวม 216 กิโลเมตร (กม.) ใช้งบประมาณค่าก่อสร้างรวม 34,590 ล้านบาท มีจำนวน 27 สถานี ที่หยุดรถไฟ 8 แห่ง และย่านเก็บกองและขนถ่ายสินค้า 2 แห่ง
ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยรองรับการเชื่อมต่อระบบรางระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย โดยมีเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงสถานีสุไหงโก-ลก และสิ้นสุดที่สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโกลก บริเวณพรมแดนไทย –มาเลเซีย
นอกจากนี้สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโกลก ได้รับการปรับปรุงให้มีความพร้อมในการใช้งาน แต่เส้นทางรถไฟเชื่อมต่อในฝั่งมาเลเซีย ช่วงรันเตาปันจัง – ปาซีร์มัซ ถูกปิดใช้งานไปตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันมีสภาพชำรุดใช้การไม่ได้
“ดังนั้นหากมาเลเซียปรับปรุงเส้นทางช่วงดังกล่าว ให้กลับมาเปิดให้บริการได้ จะสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางและสามารถเปิดเดินขบวนรถผ่านพรมแดนได้ทันที” นายสุริยะ กล่าว
ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากข้อสั่งการของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการพัฒนารถไฟทางคู่ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายใต้ ช่วงชุมทางหาดใหญ่ – สุไหงโกลก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทางราง
นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงการเดินทางครอบคลุมทั่วประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย – มาเลเซีย การค้าชายแดน การท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะที่ความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,488 กม. วงเงินรวมประมาณ 2.8 แสนล้านบาท โดยผ่านความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือบอร์ดสภาพัฒน์ชุดใหม่ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการฯ ต่อไป
สำหรับรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 6 เส้นทาง วงเงินรวม 293,121 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงปากน้ำโพ – เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 81,143 ล้านบาท 2.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 44,103 ล้านบาท
3.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 24,294 ล้านบาท 4.ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 67,459 ล้านบาท 5. ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,900 ล้านบาท และ 6.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 68,222 ล้านบาท