ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 5 สำหรับการเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” โดยในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะ “นโยบายเร่งด่วน” ดำเนินการทันที 10 เรื่อง
ล่าสุดบางนโยบายจะถูกผลักดันออกมาแล้ว แต่ในบางเรื่องกลับยังไม่สะเด็ดน้ำ นั่นจึงทำให้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ม.ค.68 ที่ผ่านมา นายกฯ จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งผลักดันนโยบายเร่งด่วน และนโยบายระยะกลางและยาว อีก 8 เรื่อง พร้อมกำชับให้รายงานความคืบหน้าเป็นประจำทุกเดือน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ เร่งผลักดันนโยบายของรัฐบาลนั้น สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงหัวหน้าหน่วยงานทุกกระทรวงแล้ว เพื่อรับทราบมติครม.
พร้อมมอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพหลักและหน่วยงานสนับสนุนของแต่ละนโยบาย รายงานผลการดำเนินงานผ่านระบบติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีตามนโยบายรัฐบาล ทุกวันที่ 5 ของเดือน
พร้อมกันนี้ยังให้ผู้ประสานงานการติดตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (ปกตน.) ซึ่งเป็นผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ประสานงานกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และรายงานผลการดำเนินงาน เพื่อจัดทำผลงานรัฐบาลร่วมกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยจะจัดทำเป็นรายงานผลงานรัฐบาลปีแรก เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะในวันที่ 12 กันยายน 2568 ต่อไป
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลตามข้อสั่งการนายกฯ มีด้วยกัน 18 ประเด็นสำคัญ ส่วนแรกเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 10 เรื่อง อีกส่วนคือ นโยบายระยะกลางและระยะยาว อีก 8 เรื่อง มีดังนี้
สำหรับนโยบายเร่งด่วน 10 เรื่อง ของรัฐบาล ประกอบด้วย
นโยบายระยะกลางและระยะยาว 8 เรื่อง ประกอบด้วย
1.การสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม ทั้งการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต และการส่งเสริม Soft Power ของประเทศ
2.การส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด และการต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เน้นการดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ รวมไปถึงการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินของโลก
3.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายโอกาส ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม การเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ
4.การส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย ผ่านการส่งเสริมการเกิดและเติบโตของเด็กทุกคน ยกระดับทักษะปลดล็อกศักยภาพของคนไทยเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ การยกระดับสาธารณสุขให้ดีกว่าเดิมภายใต้นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” และการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ
5.การสร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมในการรับมือภัยพิบัติ การยกระดับการบริหารจัดการน้ำ และสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน
6.พลิกฟื้นความเชื่อมั่นคนไทยและต่างชาติ โดยเร่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตย การปฏิรูปกองทัพ และการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน
7.การต่างประเทศ เน้นการรักษาจุดยืนของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเดินหน้าสานต่อนโยบายการทูต เศรษฐกิจเชิงรุก เร่งเจรจา FTA กับประเทศคู่ค้าสำคัญ
8.การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและดำเนินนโยบายการคลัง โดยบริหารค่าใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณกระจายเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงการใช้แหล่งเงินนอกงบประมาณ และให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน