วันนี้ (15 มกราคม 2568) ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานการประชุมสัมมนาและมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เป็นครั้งแรกของรัฐบาล โดยมีหัวหน้าหน่วยงานราชการจากทั้งส่วนกลาง และภูมิภาคเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน ว่า รัฐบาลพร้อมเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ของกลุ่มบุคคลทั่วไป เพื่อวางรากฐานให้ประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล
"การผลักดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต อาจมองแค่ว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะต้องปรับเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนก้าวเข้าทันกับยุคดิจิทัล เอไอ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนจริง ๆ และรับรู้ว่าโลกปัจจุบันไปทางไหนด้วย" น.ส.แพทองธาร กล่าว
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายการจัดทำงบประมาณฯ ปี 69 เน้นการเติบโตทางประสิทธิผล ใช้จ่ายงบอย่างแม่นยำและตรงเป้าหมายโดยให้ความสำคัญ 3 ส่วน คือ 1.ไม่ลดสัดส่วนงบลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 2.ไม่เพิ่มงบดำเนินงานเน้นเพิ่มประสิทธิผล และไม่เพิ่มงบประมาณ และ 3.ไม่เพิ่มอัตรากำลังเน้นพัฒนากำลังคนให้มีประสิทธิภาพและดูแลด้านสวัสดิการให้ทั่วถึงและเท่าเทียม
“วันนี้เราก็ทราบดีอยู่แล้วว่าประเทศเราเจอเรื่องท้าทายมากมาย และมีความเดือดร้อนของประชาชนในทุกมิติ รัฐบาลอยากจะแก้ไขผ่านการวางแผนงบประมาณในปี 69 ที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด เราจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะจัดทำงบประมาณปี 69 ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดด้วย”
ทั้งนี้ในการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ ปี 69 ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาเท่าที่จำเป็น โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนของภาครัฐ และไม่สร้างรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น เพราะรายจ่ายประจำจะเป็นต้นทุนที่สะสมทุกปี หากจะมาปรับเปลี่ยนอาจต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นจึงขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันว่าเราจะเจาะลึกลงไปถึงการลดรายจ่ายประจำได้อย่างไรบ้าง เพราะที่ผ่านมารัฐบาลเห็นตัวเลขส่วนนี้มีอยู่จำนวนมาก
นายกฯ กล่าวอีกว่า ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเทียบเคียงกับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญด้านต่าง ๆ และขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณานำเงินนอกงบประมาณ หรือแหล่งเงินอื่นมาใช้ดำเนินการเป็นลำดับแรก เพื่อลดภาระงบประมาณของประเทศ เช่น เงินรายได้ เงินสะสม
รวมไปถึงการพิจารณาแนวทางลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (PPP) พร้อมทั้งกับชับให้รัฐวิสาหกิจในสังกัดเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายด้วย
อย่างไรก็ตามในขั้นตอนการจัดทำงบประมาณฯ ปี 2569 นั้น หลังจากนายกฯ มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณเสร็จสิ้นในวันที่ 15 ม.ค.68 แล้ว หน่วยรับงบประมาณต่าง ๆ ต้องจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกฯ รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาให้ความเห็นชอบและส่งสำนักงบประมาณภายในวันที่ 31 ม.ค.2568 ต่อไป
สำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 69 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 3,780,600 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569-2572) โดยปรับเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2568 เป็นจำนวน 27,900 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.7%
ทั้งนี้งบประมาณฯ ปี 2569 กำหนดรายได้รัฐบาลสุทธิ 2,920,600 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 860,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ซึ่งเป็นการขาดดุลงบประมาณลดลงจากปีก่อน ภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจในปี 2569 ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 2.3-3.3 หรือค่ากลาง 2.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0.7-1.7% ค่ากลาง 1.2%