วานนี้ (17 มกราคม 2568) ดร. นลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย เปิดเผย ภายหลังการหารือกับ นายอับดุลอาซิซ อัลซาคราน รองผู้ว่าการสำนักงานการค้าต่างประเทศ (GAFT) ซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสเดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย ครั้งที่ 1 โดยมี นายดามพ์ บุญธรรม เอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด
ทั้งนี้ การหารือในครั้งนี้เป็นการต่อยอดและติดตามผลจากการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียของตนเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการนำคณะนักธุรกิจไทย ในอุตสาหกรรมอาหาร ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนสนับสนุนการสร้างเครือข่ายระหว่างนักธุรกิจสองประเทศ
ดร. นลินี กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้กำหนดให้ซาอุดีอาระเบียเป็น 1 ใน 10 ประเทศยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก โดยไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์กับ ซาอุดีอาระเบียในทุกมิติ ดังจะเห็นได้จากความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีพัฒนาการเชิงบวกอย่างมากนับตั้งแต่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อปี 2565 อาทิ การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การเชื่อมโยงของประชาชน การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว และในมิติการค้านั้น การค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นกว่า 30% ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูต
ทั้งนี้ ไทยมีเป้าหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมสำคัญหลายด้านให้เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค เช่น การท่องเที่ยว สุขภาพและการแพทย์ โลจิสติกส์ การคมนาคมแห่งอนาคต และเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไทยมีความยินดีที่จะต้อนรับการลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย
ขณะเดียวกัน การเปิดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยในกรุงริยาดเมื่อปีที่แล้ว ก็สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยในการสนับสนุน Saudi Vision 2030 ในด้านที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญ เช่น การก่อสร้าง เกษตรกรรม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ การบริการทางการแพทย์และสุขภาพ รวมทั้งการท่องเที่ยว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการเร่งรัดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่าง ไทย – คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) เนื่องจาก GCC เป็นตลาดที่มีปัจจัยบวกหลายประการ อาทิ เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ และเป็นตลาดที่ต้องนำเข้าเข้าสินค้าที่หลากหลายไม่เฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม แต่ยังรวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในทุกสาขา อาทิ ยานยนต์ การแพทย์ การบริการ และการเกษตร อีกด้วย
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันว่า ไทยและซาอุดีอาระเบียมีศักยภาพในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันได้เป็นอย่างดียิ่งโดยใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบใน เชิงสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ในฐานะประตูการค้าซึ่งกันและกัน โดยซาอุดีอาระเบียสามารถเป็นประตู การค้าอีกแห่งหนึ่งให้แก่ไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงแอฟริกาและยุโรป ในขณะเดียวกัน ไทยสามารถ เป็นประตูการค้าให้กับซาอุดีอาระเบียในเอเชียตะวันออก อาเซียน และประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วน ทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)
สำหรับมูลค่าการค้าไทย-ซาอุดิอาระเบีย ในระยะ 11 เดือน (ม.ค. - พ.ย.) ของปี 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 7,192.82 ล้านดอลลาร์ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) มูลค่าการค้าระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย เฉลี่ยอยู่ที่ 7,679.46 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ขณะที่ ในปี 2566 มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 8,881.54 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ และอาหารทะเลกระป๋อง ส่วนสินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ และปุ๋ย