ผู้บริโภคเฮ! ศาลปกครองสั่ง"ทรู-เอไอเอส"คิดค่าโทรมือถือตามการใช้งานจริง

19 ก.ค. 2565 | 20:44 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2565 | 03:47 น.
3.2 k

ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุม กทค. ปี 60 ให้กสทช.สั่ง “เอไอเอส -ทรู” คิดค่าโทรศัพท์มือถือตามการใช้งานจริง ไม่ปัดเศษ

วันนี้ (19 ก.ค. 65) ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 ระเบียบวาระที่ 4.1 เรื่อง การพิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีมติดังกล่าว 

 

และให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่โดยกำหนดให้บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีตามมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559

ทั้งพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด 


โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทาง หรือ วิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่า ผู้ให้บริการคลื่นความถี่สามารถเลือกใช้หน่วยวัดเพื่อคิดค่าบริการได้ทั้งหน่วยวินาที หรือนาที 
 

แต่กสทช.ควรกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขห้ามผู้ให้บริการคลื่นความถี่ใช้วิธีคิดแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาที ส่วนวิธีการคิดค่าบริการขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ กสทช.

 

น.ส.ณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  กล่าวว่า คดีนี้ถือว่าผลคำพิพากษาเป็นแนวทางที่ดีต่อผู้บริโภค และศาลปกครองกลางเห็นถึงปัญหาการคิดค่าบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยว่า การคิดค่าบริการต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง ไม่ว่าจะมีหน่วยวัดเป็นนาทีหรือวินาทีก็ตาม 

 

ทั้งนี้หากใช้หน่วยวัดเป็นวินาทีก็ต้องคิดค่าบริการตามจำนวนวินาที หรือ หากใช้หน่วยวัดเป็นนาทีก็ต้องคิดค่าบริการตามจำนวนนาที ซึ่งการคิดค่าบริการเป็นหน่วยนาทีได้จะต้องครบจำนวน 60 วินาทีเท่านั้น จะใช้วิธีการคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีไม่ได้  

 

และศาลปกครองกลางยังพิพากษาให้ กสทช. พิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในคลื่นความถี่ต่างๆ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แสวงหาประโยชน์จากการปัดเศษหน่วยวัดจากวินาทีเป็นนาที 


สำหรับคำพิพากษาในวันนี้เป็นคำพิพากษาในศาลปกครองชั้นต้น กสทช.ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดียังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก