ทูตบังคลาเทศบุก‘แม่สอด’ ปูทางผนึกเศรษฐกิจระเบียง ‘EWEC’ 

14 ก.ค. 2565 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2565 | 21:50 น.

ไม่หวั่นไฟสงครามเมียนมา ทูตบังคลาเทศลงพื้นที่แม่สอด สำรวจแนวทางเชื่อมโยงเศรษฐกิจเอเชียใต้-อาเซียน เตรียมจัดประชุมออนไลน์นักธุรกิจ 4 ชาติ ในแนวระเบียงตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ก่อนนำพ่อค้าเมืองซิลเฮดมาดูงานแม่สอด เตรียมแผนตระเวนทางบกไทย-เมียนมา- บังคลาเทศ-อินเดีย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 27-28 มิ.ย. 2565 นายมูฮัมมัด อับดุล ฮัย (H.E. Mr. Mohammed Abdul Hye) เอก อัคราชฑูตบังคลาเทศ ประจำประเทศไทย ได้นำคณะลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก แม้ประจวบกับเหตุการสู้รบระลอกใหม่ ระหว่างทหารกองทัพเมียนมา กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมา ที่ประชิดแนวชายแดนไทย-เมียนมาฝั่งตรงข้าม อ.พบพระ จ.ตาก

 

โดยคณะของเอกอัคร ราชทูตบังคลาเทศประจำประเทศ ไทย ลงพื้นที่มายังชายแดน อ.แม่สอด เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลพื้นที่อ.แม่สอด ซึ่งเป็นด่านชายแดนของไทยตรงข้ามเมืองเมียวดีของเมียนมา บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวัน ออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor - EWEC) ในการวางแผนเตรียมพื้นที่ เพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศอาเชียใต้กับกลุ่มประชาคมอาเซียน

นายมูฮัมมัด อับดุล ฮัย (H.E. Mr. Mohammed Abdul Hye) (สูทดำคนกลาง)เอกอัคราชฑูตบังคลาเทศ ประจำประเทศไทย ได้นำคณะลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก

ทูตบังคลาเทศบุก‘แม่สอด’ ปูทางผนึกเศรษฐกิจระเบียง ‘EWEC’ 

แนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor- EWEC) เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง (Greater Maekong Sub-Region) ภายใต้การสนับสนุนธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (ADB) ในแนวตะวันออก- ตะวันตก เชื่อม 2 มหาสมุทร

 

เริ่มที่ดานัง เมืองท่าริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคของเวียดนามตอนกลาง แนวเส้นทางผ่านเข้าลาวตอนใต้ที่ด่านลาวบาวถึงเมืองสะหวันนะเขต ข้ามสะพานข้ามนํ้าโขงเข้าไทยที่มุกดาหาร ผ่านอีสานตัด เข้าภาคเหนือตอนล่างพิษณุโลก ตาก ถึงพรมแดนตะวันตกที่ แม่สอด เข้าเมียนมาที่เมืองเมียวดีไปออกเมาะละแหม่ง เมืองท่าชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ระยะทางกว่า 1,530 กิโลเมตร

โครงข่ายแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

เส้นทางระเบียง EWEC ตามแนวเส้นทางหมายเลข R2 นี้เหลือเพียงช่วงในเมียนมา ที่ยังติดปัญหาเสถียรภาพภายใน หากเปิดให้เดินทางเชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกันได้แล้ว ไม่เพียงจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและการเดินทางสัญจรภายในกลุ่มอินโดจีนเท่านั้น ยังสามารถเชื่อมโยงจากเมียนมาผ่านเข้าบังคลาเทศและต่อไปถึงอินเดีย ซึ่งมีประชากรจำนวนมหาศาล และเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศเอเซียใต้ (หรือกลุ่ม BIMST-EC) กับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

 

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า การเดินทางลงพื้นที่แม่สอด เมืองหน้าด่านไทยบนแนวระเบียงเศรษฐกิจ EWEC ของทูตบังคลาเทศประจำประเทศไทย ในห้วงที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังกลับมาเปิดประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้งหลังการระบาดเชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่น่าเสียดายที่เมียนมาติดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในสะท้อนถึงความตื่นตัวของบังคลาเทศ ที่กระตือรือล้นที่จะเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจมายังด้านตะวันออก

ทูตบังคลาเทศบุก‘แม่สอด’ ปูทางผนึกเศรษฐกิจระเบียง ‘EWEC’ 

ทั้งนี้ คณะของเอกอัคร ราชทูตบังคลาเทศ ได้มีแนวทางการผลักดันการเชื่อมโยงให้เป็นรูปธรรม 3 ประเด็นหลักสำคัญคือ

 

1. การจัดประชุมทางออนไลน์ ระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้ง 4 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา บังคลาเทศ และอินเดียเพื่อนำเสนอและสร้างกิจกรรมเชื่อมโยงระหว่างกันในอนาคต

 

2. การนำนักธุรกิจ (หอ การค้าและอุตสาหกรรมเมืองซิลเฮด เมืองเศรษฐกิจสำคัญของบังคลาเทศ) มาศึกษาดูโอกาส และการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันที่จังหวัดตาก และ

 

3. การสำรวจเส้นทางภาคพื้นดิน ตั้งแต่อ.แม่สอด จ.ตาก ของประเทศไทย เข้าเมียนมา ผ่านเมืองผาอัน เมาะละแหม่ง ย่างกุ้งมุ่งทางตะวันตก ผ่านเมืองมัณฑะเลย์ กาเล และตามู จนเข้าเขตประเทศบังคลาเทศ ผ่านเมืองซิลเฮด เมืองเศรษฐกิจหลัก และต่อเนื่องไปจนถึงเมืองมอเรท์ และอิมพลา ของอินเดีย โดยหวังให้ด่านทางภาคพื้นดินของทั้ง 4 ประเทศ เปิดอย่างเป็นทางการ เพื่อที่ในเร็วๆ นี้จะได้เริ่มการเดินทางไปภาคพื้นดินอีกครั้ง

 

นาย Mohammed Abdul Hye กล่าวยํ้าด้วยว่า ต้องการที่จะผลักดันการเชื่อมโยงระหว่าง 4 ประเทศ คือ บังคลาเทศ อินเดีย(ตะวันออกเฉียงเหนือ) เมียนมา และประเทศไทยผ่านด่านแม่สอดให้เป็นรูปธรรม โดยจะนำเสนอรัฐบาลบังคลาเทศต่อไป

 

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตบังคลาเทศ ยังเดินทางไปเยี่ยมชมการค้าชายแดน และดูงานกิจการ บริษัท แม่สอดฟรีโซน จำกัด (Maesot Freezone Co., Ltd.) ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ด้านอ.แม่สอด ของนายอัครเดช ตาสะหลี ผู้ให้บริการเขตปลอดอากร สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรนำเข้า สำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเข้าไปในเขตปลอดอากร สำหรับเครื่องจักรอุปกรณ์โรงงาน วัตถุดิบ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับส่งออกด้วย 

 

อัศวิน พินิจวงษ์/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,800 วันที่ 14-16 กรกฎาคม พ.ศ.2565