รับมือพายุเงินเฟ้อ 3 ตัวเร่งใหม่ดันพุ่งปรี๊ด เอกชนตั้งการ์ดคุมต้นทุนผลิต

18 มิ.ย. 2565 | 12:03 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2565 | 19:37 น.
870

พายุเงินเฟ้อไทย-โลกยังขาขึ้น CIMBT ชี้แนวโน้มปรับขึ้นค่าแรง เร่งใช้จ่ายรับเปิดประเทศ ผู้ผลิตส่งผ่านภาระต้นทุนเพิ่ม 3 ตัวเร่งใหม่ดันเงินเฟ้อ จับตา Q3 พุ่งปรี๊ด 10% เตือนประชาชน-ภาคธุรกิจอย่าสร้างหนี้เพิ่ม บิ๊กสภาอุตฯ ชงรัฐมาตรการรับมือ ททท.ห่วงกระทบไทยเที่ยวไทย

 

เงินเฟ้อ หรือ Inflation เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่สำคัญของไทยและทั่วโลก ซึ่ง ณ ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่คำนวณจากระดับราคาสินค้าและบริการครอบ คลุมทุกหมวดสินค้ารวมถึงอาหารสดและพลังงานได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยตัวเลขเงินเฟ้อของไทยเดือน พ.ค.2565 ขยายตัว 7.10% ทำสถิติสูงสุดรอบ 13 ปี ส่วนสหรัฐอเมริกา เงินเฟ้อเดือน พ.ค.ขยายตัว 8.6% สูงสุดรอบกว่า 40 ปี และอังกฤษ (ณ เม.ย.)ขยายตัว 9% สูงสุดรอบ 40 ปีเช่นกัน

 

เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลกในเวลานี้เป็นผลพวงจากราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น จากวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อและยังไร้จุดจบ กระทบห่วงโซ่อุปทาน(ซัพพลายเชน) โลก ส่งผลให้ราคาพลังงานทั้งน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม วัตถุดิบอาหารคน-อาหารสัตว์ และอาหารเพื่อคนและสัตว์บริโภคพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กระทบเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคทุกประเทศ สวนทางกับเงินในกระเป๋าที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือลดลง

 

รับมือพายุเงินเฟ้อ  3 ตัวเร่งใหม่ดันพุ่งปรี๊ด  เอกชนตั้งการ์ดคุมต้นทุนผลิต

 

จับตา Q3 พุ่งแตะ 10%

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มเงินเฟ้อยังปรับเพิ่มได้อีกหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการเร่งใช้จ่ายรับเปิดเมืองหรือ Demand Pull อาจจะเห็นแรงกดดันเงินเฟ้อไตรมาส 3 ปีนี้ มีโอกาสแตะ 10% โดยคาดว่าไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 4% ซึ่งเป็นปัจจัยบวก

 

อย่างไรก็ดีเงินเฟ้อยังมีอัตราเร่งแรง จากราคาน้ำมันยังไม่ปรับลดลงได้เร็ว ประกอบกับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปคยังน้อยกว่าที่คาด ทำให้ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเวลานี้สูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล (15 มิ.ย.อยู่ที่ 115-118 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) และอาหารสัตว์ยังราคาสูงส่งผลต้นทุนสินค้าเกษตรขยับขึ้นในไตรมาส 2-3

 

อมรเทพ  จาวะลา

 

“มาตรการรับมือฝั่งดีมานด์ เป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในปีนี้ ส่วนปีหน้าอาจขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งเพื่อพยายามชะลอเงินเฟ้อให้ลง แต่ต้องบาลานซ์ระหว่างความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งวันนี้เป็นการมองความเสี่ยงเงินเฟ้อเป็นหลัก แต่ต่อให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ไม่สามารถกดเงินเฟ้อให้ลดลงได้ในเร็ววัน”

 

 

เงินเฟ้อพุ่งผู้สูงอายุอ่วม

ทั้งนี้ เข้าใจว่า กนง. รอความชัดเจนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยก่อนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ต่อให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเดือน ส.ค.ปีนี้ กว่าจะเห็นเงินเฟ้อปรับลดลงคงเป็นช่วงปลายปีหลังจากที่เงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุด (พีค) ไปแล้ว

 

 “กนง. ต้องดูผลหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (อีก 0.75% สูงสุดในรอบ 28 ปีเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ณ เวลานี้อยู่ที่ระดับ 1.5-1.75%) หากเกิดภาวะเงินไหลออกจากไทยแรง ตลาดทุนขาดเสถียรภาพ เงินบาทอ่อน 36 บาทต่อดอลลาร์ รวมถึงพฤติกรรมเก็งกำไรและตัวเลขเงินเฟ้อมีการกระจายตัวมาก กนง. อาจขยับดอกเบี้ยไทย โดยยอมรับว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องทำร้ายผู้สูงอายุ ซึ่งรายได้เติบโตไม่ทันรายจ่าย และสินทรัพย์ที่เก็บออมในรูปเงินฝากดอกเบี้ยปรับขึ้นไม่ทัน รวมทั้งมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำ และผู้ประกอบการขนาดเล็กซึ่งต้องหาวิธีรับมือ”

 

รัดเข็มขัดไม่สร้างหนี้เพิ่ม

ด้าน นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) กล่าวว่า ttb Analytics ประเมินทั้งปีนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.7% โดยเงินเฟ้อภาคธุรกิจหรือการปรับขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ตอนนี้อยู่ที่ 13% ซึ่งทิศทางทยอยปรับเพิ่มตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะผู้ผลิตยังไม่ได้ผลักภาระต้นทุนให้กับผู้บริโภคทั้งหมด

 

หากดูจากส่วนต่าง PPI ที่ระดับ 13% และ เงินเฟ้อผู้บริโภคหรือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ 7% ในแง่ภาคธุรกิจประเด็นหลักต้องปรับตัว คือ พยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ลดเรื่องการมีภาระหนี้หรือการกู้โดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะแผนการลงทุนใหม่ที่ต้องใช้เงินกู้นั้นจะต้องประเมินสถานการณ์ต้นทุนและโอกาสกำไร เพราะอนาคตยังมีความไม่แน่นอนสูง และต้องคิดเผื่อกรณีมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่จะตามมา

 

เงินเฟ้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น มาจากการเดินทาง ยานพาหนะ (น้ำมัน) เป็นอันดับ 1 ซึ่งปรับขึ้นมา 13% อันดับสองคือ อาหาร 6% และอันดับสามคือ ค่าไฟ ค่าหุงต้ม ซึ่งทางออกคือ ต้องพยายามลดภาระค่าใช้จ่ายหากมองสถานการณ์ข้างหน้าไม่ชัดเจนก็ต้องจัดระเบียบ ถ้าไม่จำเป็นอย่ามีภาระหนี้ หรือการกู้มาลงทุน สำหรับเงินเฟ้อไตรมาส 3 มองว่ามีโอกาสเห็น 7-8% และมีโอกาสไต่ระดับสูงได้อีก เพราะผู้ผลิตยังไม่ส่งผ่านภาระต้นทุนทั้งหมด ส่วนเงินเฟ้อที่ระดับ 9% ก็มีโอกาสเป็นไปได้ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงฐานต่ำ หลังจากนั้นเงินฟ้อจะค่อย ๆ ปรับลดลง

 

“ที่สำคัญต้องจับตาเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมสินค้าหมวดอาหารสดและพลังงาน) หากเร่งตัวหรือปรับขึ้นทะลุ 4% อาจเห็น กนง.ต้องมีประชุมวาระพิเศษเป็นไปได้”

 

น้ำมัน-อาหารแพงยังไปต่อ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภค-บริโภคที่พุ่งสูงขึ้นในเวลานี้เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อยังเป็นช่วงขาขึ้น โดยเวลานี้แนวราคาน้ำมันดิบตลาดโลกได้ปรับขึ้นมาอยู่ในช่วง 110-120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จากเดิมคาดจะอยู่ในช่วง 100-110 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

 

ทั้งนี้ต้องจับตาสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจยืดเยื้อบานปลายจากทางนาโต้ยังส่งอาวุธเข้าไปช่วยยูเครน รวมถึงความขัดแย้ง และความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่อาจปะทุกลายเป็นสงคราม อาจส่งผลให้น้ำมันดิบทะลุ 140-150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ราคาพลังงาน และราคาสินค้าทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น วิกฤติขาดแคลนอาหารจะขยายตัวเพิ่มขึ้น และจะมีผลต่อเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งขึ้นได้อีก

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“ขณะนี้โลกมี 2 ปัญหาใหญ่ คือ เงินเฟ้อสูงจากราคาพลังงานและอาหาร และปัญหาขาดแคลนอาหาร ซึ่งอีกด้านหนึ่งถือเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารจากเรามีผลผลิตเหลือบริโภค”

 

ชงรัฐช่วยตรึงต้นทุนเอกชน

อย่างไรก็ดีเพื่อสร้างโอกาสในการส่งออกไม่ให้ขาดตอนจากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และช่วยตรึงราคาสินค้าและน้ำมันในประเทศไม่ให้ขยับขึ้นมาก ซึ่งจะมีผลต่อภาวะเงินเฟ้อ ทาง ส.อ.ท.ได้รวบรวมความเห็นของสมาชิกเพื่อนำเสนอรัฐบาลในหลายเรื่อง เช่น ให้รัฐบาลใช้วิธีทางการทูตเจรจาหาแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี ที่เวลานี้ขาดแคลน และมีราคาสูงจากประเทศใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ โดยการเซ็นสัญญาซื้อขายระยะยาวยอมรับราคาที่สูงขึ้น การเจรจาซื้อปุ๋ยโดยตรงจากรัสเซีย การปรับสูตรอาหารสัตว์ โดยใช้วัตถุดิบในประเทศที่ทดแทนกันได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

 

ส่วนราคาน้ำมันที่ยังเป็นทิศทางขาขึ้น และรัฐบาลได้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนดีเซล ซึ่งเวลานี้ชนเพดานที่ 35 บาทต่อลิตรแล้ว หากราคาน้ำมันยังไม่ลดลงหรือปรับขึ้นอีกขอให้รัฐช่วยคงการลดภาษีสรรพสามิต ดีเซล 5 บาทต่อลิตรออกไปคราวละ 2 เดือน หรือรวมแล้วอย่างน้อย 6 เดือน เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ และราคาสินค้าที่อาจปรับเพิ่มขึ้น

 

เดอะมอลล์อัดโปรแรง

ขณะที่ นางสาววรลักษณ์  ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหนือการควบคุม ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ผู้ประกอบการมีต้นทุนสินค้าสูงขึ้น และอาจมีการปรับขึ้นราคาสินค้าบางประเภท ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้ร่วมกับคู่ค้า ซัพพลายเออร์ จัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้า เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนให้มากที่สุด

 

วรลักษณ์  ตุลาภรณ์

 

 “ครึ่งปีหลัง เดอะ มอลล์จะผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจ อัดโปรโมชั่นแรงอย่างต่อเนื่องตลอด 6 เดือน เพื่อช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือไปยังซัพพลายเออร์ให้ตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือผ่อนปรนการขึ้นราคาสินค้า เพื่อให้มีผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุดด้วย”

 

ห่วงกระทบไทยเที่ยวไทย

นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สถานการณ์เงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ ททท. ยังคงต้องบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้น สำหรับตลาดต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทย จากการที่ททท.ได้รับเสียงสะท้อนจากเอเย่นต์ทัวร์ต่างประเทศ พบว่าหากคนที่ต้องการเดินทางมาเที่ยวจริง ๆ อย่าง ตลาดอเมริกา หรือยุโรป ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย

 

หรือแม้แต่ผู้แทนทางการตลาดของททท.ในต่างประเทศก็มองว่า ในตลาดเบลเยียมเอง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คนเก็บเงินออมในธนาคารรวมกันมากถึง 3 แสนล้านยูโร และด้วยความที่อั้นไม่ได้เดินทางเที่ยวมานานกว่า 2 ปี ถ้าเขาต้องการเดินทางเที่ยวเงินเฟ้อก็ไม่มีผล เพราะเขาเก็บเงินไว้มาก

 

ส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เงินเฟ้ออาจจะมีผลกระทบบ้าง เพราะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตสูงขึ้น การเดินทางท่องเที่ยวก็อาจจะมีการลดจำนวนลงไป หรือลดการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวลงไป แต่ด้วยโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 ส่วนขยายอีก 1.5 ล้านสิทธิ ที่รัฐสนับสนุนใช้จ่ายในการเดินทางให้ 40% ก็น่าจะมีส่วนช่วยได้

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3793 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน 2565