คาดกนง.เรียกประชุมฉุกเฉิน ตามหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง สกัดเงินเฟ้อ

16 มิ.ย. 2565 | 15:08 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2565 | 22:15 น.
657

“กรณ์ จาติกวณิช” คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.75% เชื่อไทยต้านไม่อยู่ กนง. อาจต้องเรียกประชุมด่วนนัดพิเศษ ประคองสถานการณ์ สกัดเงินเฟ้อ ชี้การแก้ปัญหา ต้องแก้ปัญหาเงินเฟ้อก่อน แล้วค่อยมาว่ากันเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ด้วยสถานการณ์นี้เชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. คงเรียกนัดประชุมนัดพิเศษในเร็ว ๆ นี้

 

“เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ก็เพิ่งประชุมไปและมีมติ คงดอกเบี้ย 4 ต่อ 3 และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ออกมาส่งสัญญาณว่า มีแนวโน้มต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นแน่นอน ซึ่งตอนนี้ก็มีคำถามว่า เมื่อสหรัฐฯ ปรับดอกเบี้ยขึ้นรุนแรงขนาดนี้แล้ว กนง.ก็อาจต้องเรียกประชุมฉุกเฉิน หรือต้องรอเดือนสิงหาคม 2565 กว่าจะนัดประชุมอีกรอบ” นายกรณ์ ระบุ

นายกรณ์ กล่าวว่า ในการเรียกประชุม กนง.รอบใหม่ ตามกำหนดเดิมในเดือนสิงหาคม 2565 อาจเป็นเวลาที่นานเกินไปหากเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน หลังจากเฟดได้เห็นชอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ และเงินทุนที่ไหลออกมากเกินไปหรือไม่ และ กนง. ก็ต้องมีการอธิบายว่ามีข้อมูลอะไรที่มีนัยสำคัญอะไรที่หลายคนยังไม่รู้

 

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์และความจำเป็น เช่นเดียวกับการประเมินจากนักวิเคราะห์หลายฝ่าย เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทย ก็ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อยอีก 2 ครั้ง จาก 0.50% ในปัจจุบันเป็น 1% ในกลางปีหน้า หรืออาจถึง 2% ได้ในช่วงปลายปีหน้า

“ด้วยสัญญาณการคงดอกเบี้ย 4 ต่อ 3 ในการประชุม กนง. รอบล่าสุด ก็เป็นตัวฟ้องว่า ทุกคนมองเงินเฟ้อเป็นปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งหลักการทั่วไปในการแก้ปัญหา ถ้าให้เลือกก็ต้องแก้ปัญหาเงินเฟ้อก่อน เพราะจะมีผลกระทบต่อประชาชน ตามมาด้วยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะโตได้ยาก ดังนั้นจึงต้องสยบเงินเฟ้อเสียก่อน แล้วค่อยมาว่ากันเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ” นายกรณ์ กล่าว

 

นายกรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในแนวโน้มของหลายประเทศทั่วโลกมีความเสี่ยงที่กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากประเทศไทยจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินไปก็เปลืองกระสุน และไปสวนกระแสของโลกไปก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน

 

อย่างไรก็ตามในความเห็นส่วนตัว ประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจในช่วงต่อจากนี้มีแนวโน้มไม่ดีไปอีกยาว ซึ่งถือเป็นวิกฤตที่ไม่เคยมาก่อน ส่วนจะยาวไปมากแค่ไหนนั้น ก็ต้องมาดูสถานการณ์กันต่อไป ส่วนประเทศไทยจะทำยังไงนั้น เห็นว่านอกจากคุมเงินเฟ้อแล้วก็ต้องปรับโครงสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเร็วขึ้นกว่าเดิม