เงินเฟ้อสูงสุดรอบ 15-20 ปี จุกสินค้าแพง-ดอกเบี้ยขึ้น

09 มิ.ย. 2565 | 18:11 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2565 | 17:48 น.
3.4 k

ปีนี้ราคาข้าวของเครื่องใช้ ในชีวิตประจำวัน ค่าเดินทาง อาหาร การกินของประชาชนคนไทยจะแพงที่สุดในรอบ 16-20 ปี ดอกเบี้ยสูง เตรียมรับมือกันให้ดี

ขณะที่ผู้ประกอบการมุ่งเน้นความสนในไปที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 7 คน มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ 0.50% ด้วยคะแนนเสียง 4:3  

 

โดยกรรมการ กนง. 3 ใน 7 คน มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ว่า เป็นการส่งสัญญาณต่อตลาดโดยตรงว่า หมดยุคดอกเบี้ยต่ำแล้ว และจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอีกไม่ช้านี้ จากที่ขึงพืดดอกเบี้ยต่ำในระดับ 0.50% มาร่วม 2 ปีเศษ

วาระการประชุมอีก 3 ครั้งที่เหลืออยู่ในปีนี้คือ วันที่ 10 สิงหาคม 2565 วันที่  28 กันยายน 2565 และนัดสุดท้าย 30 พฤศจิกายน 2565 จะต้องมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นแน่นอน 

 

และถ้า กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยมาเช่นเดียวกันในทันที 


หมายถึงว่า บรรดา พ่อค้า ประชาชน จะมีต้นทุนทางกการเงินเพิ่มขึ้นทันที จากปัจจุบันกู้เงินจ่ายดอกเบี้ยกันอยู่ในระดับ 6.5-7.5%

ใครที่เคยกู้เงินแล้วลอยตัวตามอัตรา MLR ไว้ จะมีภาระการจ่ายเพิ่มขึ้นทันที


โปรดอย่าบอกว่า เขาก็ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากด้วย เพราะในทางปฏิบัติและความเป็นจริงแห่งชีวิต สถาบันการเงินไม่มีทางขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากเท่ากับการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อยู่แล้ว


ลองคิดแบบง่ายๆ เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดมีอยู่ราว 16,834,386  ล้านบาท ถ้าขึ้นดอกเบี้ยมาแค่ 0.25% ประชาชนจะมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 42,000 ล้านบาท


ปริมาณเงินกู้ในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและแบงก์ต่างประเทศ มีอยู่ราว 18,205,670 ล้านบาท ถ้าขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ผู้ประกอบการและประชาชนจะมีภาระการจ่ายเพิ่มขึ้นราว 45,500 ล้านบาท


ทุกคนจึงให้ความสนใจว่า ตกลงในปีนี้ กนง.จะมีการขึ้นดอกเบี้ยไปยืนอยู่ในระดับไหน เพราะถ้าขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้แค่ 0.50% เท่ากับว่า ฝ่ายผู้กู้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาราว 99,000 ล้านบาท 


แต่ถ้าขึ้นดอกเบี้ยขึ้นมาในปีนี้ 1% ต้นทุนการจ่ายของฝั่งผู้กู้จะเพิ่มมาทันที 182,000 ล้านบาท นี่คิดแบบกลมๆ ง่ายๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ


การปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท.จึงมีผลกระทบไปทั่วทุกอณู ไม่จำกัดวงแคบอยู่แค่ธนาคารพาณิชย์

                                 เงินเฟ้อสูงสุดรอบ 15-20 ปี จุกสินค้าแพง-ดอกเบี้ยขึ้น
ประเด็นใหญ่ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่ กนง.ส่งสัญญาณออกมาให้ภาคเศรษฐกิจ ประชาชนได้ขบคิดและหาทางรับมือกันคือ การที่ กนง. 7 คน มีมติร่วมกันในการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้นมาอย่างมาก โดยคาดว่าเงินเฟ้อที่เป็นตัวสะท้อนราคาสินค้าในปี 2566 จะขยับขึ้นไปยืนอยู่กรอบบนของเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 3%


คณะกรรมการ กนง.7 คน อันประกอบด้วย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธานกรรมการ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธปท. เป็นรองประธานกรรมการ, นางสาววชิรา อารมย์ดี รองผู้ว่าการ ธปท.ด้านบริหาร เป็นกรรมการ นายรพี สุจริตกุล อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.เป็นกรรมการ .นายคณิศ แสงสุพรรณ  เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นกรรมการ นายสุภัค ศิวะรักษ์ อดีซีอีโอธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เป็นกรรมการ นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นกรรมการ ยังมีมติเห็นพ้องกันในการ ปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ขึ้นมาจาก 4.9% เป็น 6.2% 
เงินเฟ้อทั่วไปสำหรับปี 2566 ปรับขึ้นจาก 1.7% เป็น 2.5% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ


อัตราเงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันทะลุขึ้นมา 7.1% ยังไม่ได้อยู่ในจุดสูงสุดของปีนี้ แต่คาดว่าจุดสูงสุดจะเป็นไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่ตัวเลขเงินเฟ้อจะไม่ถึงเลข 2 หลัก หลังจากนั้นจะทยอยปรับลดลงตามการผลิตน้ำมัน ที่คาดว่าจะมีมากขึ้นตามตลาดโลก โดยเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2566 เป็นต้นไป


ภาพที่สะท้อนกลับออกมาจากมุมมองของ กนง.ในเรื่องเงินเฟ้อที่กระทบต่อประชาชนที่เด่นชัดที่สุดคือ “ในปีนี้ราคาข้าวของเครื่องใช้ ในชีวิตประจำวัน ค่าเดินทาง อาหาร การกินของประชาชนคนไทยจะแพงที่สุดในรอบ 16-20 ปีเลยทีเดียว”


ผู้คนทั่วไป ผู้ประกอบการหลายรายอาจไม่เคยสังเกต แต่หากนำตัวเลขประมาณการเงินเฟ้อในปีนี้ที่กนง.ประเมินว่า จะทะลุ 6.2% มาพิจารณาจะพบว่า นี่คืออัตราสูงสุดในรอบ 15-20 ปี ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีอัตราเงินเฟ้อสูงลิ่วระดับนี้มาก่อน….


เงินเฟ้อของประเทศไทยในระยะ15- 20 ปี เคยสูงสุดในระดับ 5.19% โน่น ปี 2550-2551  ดัชนีราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นตอนนั้น เกิดขึ้นไปทั่วโลกจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือ ปัญหาซับไพรม์ ในขณะนั้น ราคาน้ำมันวิ่งสูงใกล้เคียงปัจจุบันที่ 110-120 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล  
ผลที่ตามมาคือ ต้นทุนสินค้าต่างๆ สินค้าบริโภค อุปโภคต่างพากันปรับตัวเพิ่มขึ้น ค่าไฟ น้ำมัน น้ำมันเชื้อเพลิง อาหาร เนื้อสัตว์ต่างๆแพงระยับ


สถานการณ์เงินเฟ้อในระดับ 5.19% ในช่วงปี 2551 ได้ส่งผ่านไปเป็นภาระประชาชนอย่างหนักหน่วงมาก


เพราะต้นทุนราคาหมวดอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 11.56% ต้นทุนราคาหมวดค่าขนส่งเพิ่มขึ้น 10.2% ต้นทุนหมวดที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 3.28%  


เงินเฟ้อสูงอีกระลอกหนึ่งของประเทศไทยเกิดขึ้นในปี 2011 หรือปี 2554 ตอนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยทำให้เกิดการช็อคในภาคการผลิต ทำให้สินค้าต่างๆ ขาดแคลน แต่คราวนั้นสูงเพียงแค่ 3.8% นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เงินเฟ้อของไทยไม่เคยเกิน 2% แม้แต่ครั้งเดียว


รับมือสินค้าราคาแพง ดอกเบี้ยสูงกันให้ดี พี่น้องไทย