เอกชนค้านรัฐบิดเบือนกลไกตลาดน้ำมัน ห่วงแก้ปัญหาเก่าก่อปัญหาใหม่ใหญ่กว่า

17 มิ.ย. 2565 | 13:40 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2565 | 09:18 น.

ค่าการกลั่นน้ำมันในประเทศไทยกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรง หลังจากที่พรรคกล้าโดยนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงถึง 8.56 บาทต่อลิตร หรือโรงกลั่นได้กำไรเพิ่มกว่า 10 เท่า

 

ในขณะที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากราคาจำหน่ายน้ำมันในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กระทรวงพลังงาน โดยนายสมภพ  โฆษกกระทรวงฯก็ยอมรับว่า ค่าการกลั่นน้ำมันเวลานี้สูงจริง แต่ไม่ถึงระดับ 8.56 บาทต่อลิตร โดยเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ระดับ 5.20 บาทต่อลิตร ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาค่าการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2-2.50 ต่อลิตร และในช่วงปี 63-64 ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดค่าการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.70 และ 0.89 บาทต่อลิตร

 

ทั้งนี้ ต่อประเด็นดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “จักรพงศ์ เชวงศรี” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด (มหาชน)  ถึงค่าการกลั่นน้ำมันที่แท้จริง การจะเข้าแทรกแซงโดยภาครัฐ  และการเก็บภาษีลาภลอย (Windfall tax) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

 

เอกชนค้านรัฐบิดเบือนกลไกตลาดน้ำมัน ห่วงแก้ปัญหาเก่าก่อปัญหาใหม่ใหญ่กว่า

 

-โควิดคลี่คลายดันค่าการกลั่นสูงขึ้น

จักรพงศ์ ระบุว่า ค่าการกลั่นน้ำมันจากช่วงต้นปี 65 จนถึงปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 10 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือประมาณ 3 บาทต่อลิตร โดยตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมาค่าการกลั่นขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล หรือประมาณ 5 บาท  ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นค่าการกลั่นสิงคโปร์

 

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าไม่ใช่ทุกโรงกลั่นจะได้รับค่าการกลั่นในระดับดังกล่าวเท่ากันทั้งหมด  เนื่องจากค่าการกลั่นสิงคโปร์จะคำนวณโดยการใช้น้ำมันดิบจากแหล่งเดียวคือ น้ำมันดิบดูไบ ไม่รวมค่าเชื้อเพลิงในการกลั่น นอกจากนี้ โรงกลั่นในประเทศไทยจะมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายแหล่ง เช่น น้ำมันดิบเมอร์เบิ้ล จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือน้ำมันดิบอาราเบียนไรท์ จากซาอุดิอาระเบีย ซึ่งราคาจะสูงกว่าน้ำมันดิบดูไบประมาณ 7 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  ดังนั้น ต้นทุนที่แท้จริงจึงไม่เท่ากัน

 

 

ขณะที่เชื้อเพลิงในโรงกลั่นจะอยู่ที่ประมาณ 3% ของราคาน้ำมันดิบ หรือประมาณ 3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  โดยเมื่อนำตัวแปรดังกล่าวมารวมกันต้นทุนน้ำมันของโรงกลั่นในประเทศจะสูงกว่าในสูตรค่าการกลั่นสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ค่าการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศอยู่ที่ประมาณ 10-15 เหรียญสหรัฐฯต่อบาเรล โดยถือว่าอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ค่าการกลั่นตกลงไปเหลือไม่ถึง 1 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในบางขณะ หรือประมาณ 10 สตางค์ต่อลิตร  เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันลดลงอยากมากอย่างมาก ซึ่งหลายโรงกลั่นในโลกก็ไม่สามารถผ่านช่วงยากลำบากนั้นได้ และมีการปิดตัวลงทั่วโลกกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

“เมื่อโควิดคลี่คลาย ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ค่าการกลั่นน้ำมันจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3-5 บาทต่อลิตรดังกล่าว  โดยหากถามว่าค่าการกลั่นดังกล่าวคือกำไรของโรงกลั่นจริงหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เป็นเพียงกำไรขั้นต้นยังต้องหักลบกับต้นทุนดำเนินงานอื่น ๆ อีกประมาณ 4-5  เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  นอกจากนี้ ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น โรงกลั่นก็ต้องนำกำไรที่ได้ไปซื้อน้ำมันดิบเข้ากลั่นในราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน ทำให้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งหากกล่าวตามตรงก็คือโรงกลั่นไม่ได้มีเงินสดเหลือมากอย่างที่หลายคนคิดกัน เนื่องจากค่าการกลั่นเพิ่งปรับเพิ่มขึ้นมากจริงๆ ก็ในไตรมาส 2 นี้เท่านั้น”

 

เอกชนค้านรัฐบิดเบือนกลไกตลาดน้ำมัน ห่วงแก้ปัญหาเก่าก่อปัญหาใหม่ใหญ่กว่า

 

-แนะรัฐปล่อยไปตามกลไกตลาด

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้นโรงกลั่นย่อมได้รับผลประโยชน์ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดตามตัวเลขค่าการกลั่นสิงคโปร์  หรือส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปตัวใดตัวหนึ่งเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากโรงกลั่นเองมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย บางตัวราคาก็ต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบ และก็มีต้นทุนในการดำเนินการอีก ดังนั้น สาเหตุที่ทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้นไม่ใช่มาจากค่าการกลั่นที่สูงขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว  แต่มาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็มีราคาแพง รวมถึงต้นทุนอื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะตลาด และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าอีกด้วย

  

เอกชนค้านรัฐบิดเบือนกลไกตลาดน้ำมัน ห่วงแก้ปัญหาเก่าก่อปัญหาใหม่ใหญ่กว่า              

สำหรับประเด็นเรื่องการแทรกแซงค่าการกลั่นนั้น มองว่า รัฐบาลควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดน่าจะดีที่สุด  แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ซึ่งรัฐต้องการช่วยประชาชน  และโรงกลั่นพอจะมีกำไรดีขึ้นอยู่บ้างก็สามารถขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นได้  โดยบริษัทโรงกลั่นส่วนใหญ่ก็ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งการช่วยเหลือสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยโรงกลั่นจะรู้อยู่แล้วว่าช่วยได้แค่ไหน ซึ่งหากรัฐเลือกที่จะบิดเบือนกลไกตลาดแทน หรือกำหนดเพดานราคาหน้าโรงกลั่นน่าจะไม่เป็นผลดี

               

“รัฐบาลเคยมีบทเรียนมาแล้วในส่วนของก๊าซหุงต้ม (LPG) เมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว จากการตรึงราคาขายในประเทศไว้ที่ 340 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาตลาดโลกอยู่ที่ 700-800 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน  โรงกลั่นก็นำ LPG ที่ตนผลิตได้ไปใช้งานเอง ซึ่งถูกกว่าการใช้น้ำมันเตาและเชื้อเพลิงอื่นๆ ซึ่งทำให้อุปทาน LPG ในประเทศขาดแคลน ซึ่ง ณ ตอนนั้น ภาครัฐจึงมีนโยบายให้ ปตท. นำเข้า  LPG เพิ่มเติมและใช้กลไกของกองทุนน้ำมันมาชดเชยส่วนต่างราคา  ซึ่งทำได้แค่ระยะหนึ่งก็ไม่สามารถทำต่อได้ หลังจากนั้นจึงต้องปล่อยราคา LPG ในประเทศขึ้นในส่วนของภาคขนส่ง  และโรงงานอุตสาหกรรม”

               

จักรพงศ์ บอกต่อไปว่า หากรัฐยังดำเนินการในรูปแบบเดียวกันโดยมีการกำหนดเพดานค่าการกลั่น เช่น 2 บาทต่อลิตรเท่ากันทุกผลิตภัณฑ์  โรงกลั่นก็จะนำผลิตภัณฑ์ไปส่งออกทั้งหมด  เนื่องจากราคาที่ขายได้แม้หักค่าขนส่งออกไปยังสิงคโปร์ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาขายในประเทศ ดังนั้น แทนที่ประเทศไทยจะมีปัญหาแค่เพียงเรื่องของราคา แต่จะกลับกลายเป็นการเพิ่มปัญหาด้านอุปทานเข้ามาอีก  นั่นก็คือไม่มีน้ำมันเพียงพอให้ผู้บริโภคในประเทศ เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งแต่ไปสร้างปัญหาที่ใหญ่ขึ้น

               

ทั้งนี้ หากรัฐจะแก้ด้วยการเพิ่มมาตรการห้ามส่งออก ก็จะกลายเป็นมีน้ำมันดีเซลล้นเกินความต้องการของประเทศ และจะตามมาด้วยปัญหาเรื่องของถังเก็บน้ำมันที่ไม่เพียงพอเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับน้ำมันดิบมาแล้วเมื่อปี 2563 ตอนที่ราคาน้ำมันดิบร่วงลงจนติดลบ โดยเมื่อถังเต็มโรงกลั่นก็ต้องลดกำลังการผลิต

               

“เมื่อลดกำลังการผลิตก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกจากการที่ปกติไทยต้องนำเข้าน้ำมันเบนซิน น้ำมันเครื่องบิน และ LPG โดยจะมีผลทำให้เชื้อเพลิงทั้ง 3 ชนิดขาดแคลน  สุดท้ายก็จะต้องนำเข้ามาจากสิงคโปร์เพิ่มเติม และต้องเสียค่าขนส่ง  โดยราคาน้ำมันก็อาจจะแพงกว่าเดิมได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย”

 

-เตือนชั่งน้ำหนักให้ดีก่อนออกมาตรการ

ส่วนประเด็นเรื่องการจัดเก็บภาษีลาภลอยนั้น  ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าภาษีดังกล่าวคือ การเก็บภาษีเพิ่มเติมในกรณีที่กำไรสูงผิดปกติ  หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่บางประเทศไม่ได้เก็บเพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ในการอุดหนุนราคาน้ำมัน เช่น ประเทศอังกฤษ มีการเก็บภาษีลาภลอย แต่ผู้ประกอบการสามารถนำเงินลงทุนมาหักออกจากกำไรก่อนการจัดเก็บภาษีลาภลอย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนสร้างอุปทานน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานอื่นๆ เพิ่มเติมในระยะยาว

               

ขณะที่ประเทศไทยมีวัตถุประสงค์การเก็บเพื่อนำเงินที่ได้ไปอุดหนุนพลังงาน  โดยเป็นคนละรูปแบบกัน คำถามต่อมาก็คือจัดเก็บแล้วจะมีเงินเพียงพอไปอุดหนุนได้นานเท่าไหร่  เนื่องจากเวลานี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนช่วยราคาน้ำมันดีเซลอยู่เกือบ 9.96 บาทต่อลิตร คิดเป็นมูลค่าต่อวันประมาณ 600 ล้านบาท หรือ 1.8 หมื่นล้านบาทต่อเดือน โดยทั้งอุตสาหกรรมพลังงานมีกำไรรวมกันอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท หากรัฐหักไป 5% หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ก็จะมีเงินไปอุดหนุนเพิ่มได้ไม่ถึง 1 เดือน หรือถ้าหัก 10% ก็อาจจะนำไปช่วยได้ประมาณ 1 เดือน

               

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐจะต้องสูญเสียก็คือความไม่แน่นอนของนโยบาย เนื่องจากเวลาที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุน  จะมองเรื่องของนโยบายของประเทศเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการพิจารณาด้วย ขณะที่เวลานี้ไทยเองก็ต้องการการทุนจากต่างชาติเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ  โดยหากนโยบายไม่นิ่งก็จะไม่จูงใจให้เกิดการลงทุน  ซึ่งจะกระทบกับภาพใหญ่ของประเทศ  ดังนั้น รัฐจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีก่อนที่จะออกมาตรการใดๆ  ต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียให้รอบด้าน

               

“เชื่อว่าราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงแบบในปัจจุบัน น่าจะอยู่อีกไม่นาน เนื่องจากไม่ใช่แค่เพียงเศรษฐกิจไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่เศรษฐกิจทั่วโลกก็กำลังชะลอตัวหรือถดถอย เพราะฉะนั้น อีกไม่นานราคาน้ำมันก็น่าจะปรับตัวลดลงเอง ซึ่งจะทำให้ราคาพลังงานอื่นๆ ลดลงตามไปด้วย โดยเวลานี้รัฐควรใช้กลไกที่ไม่บิดเบือนมากจนเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบทั้งระบบ”