นายกฯ บี้กลางวงครม. ค่าการกลั่นน้ำมัน 8 บาท มาจากไหน แต่ไร้คำตอบ

14 มิ.ย. 2565 | 17:58 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2565 | 01:25 น.
1.9 k

นายกฯ ถามกลางวงครม. ตัวเลขค่าการกลั่นน้ำมัน 8 บาทต่อลิตร มาจากไหน แต่ไร้คำตอบ รับหากจะลดลงก็ต้องดูให้ดี เพราะมีเรื่องอื่นมาเกี่ยวพัน ทั้งกฎหมาย และการทำธุรกิจ รับกระทรวงพลังงาน จะมีการชี้แจงในรายละเอียดต่อไป

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ มีประเด็นร้อนหยิบยกมาคุยกันกลางวงที่ประชุม โดยเฉพาะเรื่องราคาน้ำมัน และค่าการกลั่น ที่พุ่งสูงขึ้นมาในปัจจุบัน โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลาโหม กล่าวว่า ในที่ประชุมครม.มีการพูดคุยและชี้แจงเรื่องค่าการกลั่นน้ำมันแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีหลายคนให้ความสนใจในเรื่องนี้

 

ทั้งนี้ในกรณีของค่าการกลั่นน้ำมัน ซึ่งมีการระบุออกมาก่อนหน้านี้ว่า ปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 8 บาทต่อลิตรนั้น ได้สอบถามเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีคำตอบว่าตัวเลข 8 บาทนี้มาจากไหน เพราะเท่าที่ตัวเลขในตอนนี้ก็ยังไม่ถึง 8 บาท และที่มีคนบอกว่าถ้าให้ลดค่าการกลั่นมาอยู่ที่ 5 บาท แล้วคิดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง 5 บาทนั้น เห็นว่า ทำไม่ได้เพราะจะพันไปถึงเรื่องอื่น ๆ 

 

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบัน มีกฎหมายควบคุมและคุ้มครองผู้ประกอบการ อีกทั้งต้นทุนการผลิตไม่ได้มีแค่เรื่องน้ำมัน แต่ยังมีธุรกิจอีกหลายอย่างที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยในข้อสรุปเรื่องนี้นั้น ทางกระทรวงพลังงาน จะมีการชี้แจงในรายละเอียดต่อไป 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องค่าการกลั่นน้ำมัน การแก้ปัญหาพลังงาน และการปรับให้ราคาพลังงานให้ถูกลงนั้น สิ่งแรกที่ต้องไปดู คือ เรื่องราคาพลังงานของไทยกับของประเทศเพื่อนบ้านว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ เพราะอะไร และเรามีน้ำมันต้นทุนหรือน้ำมันดิบมากน้อยเพียงใด จากนั้นจึงคิดว่าจะหาต้นทุนพลังงานมาจากที่ไหน 

 

รวมถึงคิดเรื่องการกำหนดค่าต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้มีกลไกกำหนดอยู่แล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังหาทางว่าจะทำอย่างไรในการเพิ่มแหล่งพลังงานให้มากขึ้น จะเป็นแหล่งบนบกหรือไม่ และถ้าไม่พอ จะต้องหาแหล่งในทะเลอีกด้วยหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษา

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า สถานการณ์ในวันนี้ ประเทศไทยกำลังเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง รัฐบาลทำงานหนักตลอดเวลาเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ และความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจของโลก อาทิ เรื่องพลังงาน สถานการณ์เงินเฟ้อ ล้วนเป็นสิ่งที่เราไม่นิ่งนอนใจอยู่แล้ว 

 

โดยรัฐบาลติดตามสถานการณ์และเตรียมการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลายเรื่องที่มีความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนสูง ถ้าตัดสินใจหรือแก้ไขผิด ก็อาจเกี่ยวพันไปถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย เพราะอยู่ในห่วงโซ่เดียวกัน ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้มีการติดตามความก้าวหน้า และรายงานสถานการณ์ทุกวัน