เกษตรฯ ยัน “GMP plus” จีนเชื่อมั่น ไม่หนุนติดสติกเกอร์ของ “CCIC” เพิ่มต้นทุน

23 เม.ย. 2565 | 16:28 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2565 | 00:10 น.

กรมวิชาการเกษตร ยืนยัน “GMP plus” จีนเชื่อมั่น ป้องโควิด ส่งออกทุเรียนไม่สะดุด ไม่หนุนติดสติกเกอร์ “CCIC” เพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

ระพีพัฒน์ จันทรศรีวงศ์

 

นายระพีพัฒน์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า ตามที่ ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้จากคุณมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดจันทรบุรี  ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตรและ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อจัดทำแนวทางและมาตรการส่งออกผลไม้ไทยในภาคตะวันออก โดยเฉพาะทุเรียน นั้น ได้ เน้นย้ำแนวปฎิบัติตามมาตรการ GAP และ GMP Plus เพื่อการส่งออกไปจีน ไม่ให้มีเชื้อ "โควิด- 19" ปนเปื้อนไปกับตู้สินค้า บรรจุภัณฑ์ และผลไม้

 

มาตรฐาน GMP plus

 

โดยเฉพาะ ทุเรียน อันจะทำให้สินค้าถูกทำลายหรือระงับการส่งออก ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกผลไม้ที่เป็นข้อห่วงใยของทุกภาคส่วนในปัจจุบัน  โดยศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) เห็นชอบแนวปฎิบัติดังกล่าว พร้อมได้ติดตามสุ่มตรวจประเมินโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ผ่าน มาตฐาน GMP Plus มาแล้ว ผลการประเมินอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดย ศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) เน้นย้ำ มาตรการตรวจสอบโควิด และแมลงศัตรูพืช ณ ด่านนำเข้าจีน ที่เข้มงวดตามนโยบาย "Zero Covid" ของรัฐบาลจีน

 

กรมวิชาการเกษตร และ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจํากรุงปักกิ่ง จึงขอทำความเข้าใจกับผู้ส่งออกและเจ้าของโรงคัดบรรจุ และเกษตรกร ให้เข้มงวดตามมาตรการ GAP และ GMP Plus ของ กรมวิชาการเกษตร และจังหวัด เป็นแนวทางการส่งออกผลไม้ไปจีนผู้ประกอบการ ไม่จำเป็นต้องไปเสียค่าบริการตรวจสอบและรับรองเพิ่มเติมจากหน่วยงานอื่น

 

 

โดยเฉพาะ กระแสข่าว เกี่ยวกับแนวทางการส่งออกผลไม้และทุเรียนที่ต้องผ่านการตรวจสอบรับรอง และ ติดสติกเกอร์จาก CCIC ประเทศไทย (China Certification & Inspection Group) นั้น จึงไม่ใช่มาตรการและแนวปฎิบัติของกรมวิชาการเกษตร และ ศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ที่ได้มีความร่วมมือและตกลงกันไว้

 

เกษตรฯ ยัน “GMP plus” จีนเชื่อมั่น  ไม่หนุนติดสติกเกอร์ของ “CCIC” เพิ่มต้นทุน

 

อนึ่ง บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นองค์กรตรวจสอบและรับรองแห่งชาติจีน (CCIC) เป็นองค์กรข้ามชาติที่ดำเนินการ “ตรวจสอบ,ประเมิน,รับรอง,และทดสอบสินค้า” ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2523  CCIC เป็นองค์กรตรวจสอบรับรองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นหน่วยงานบุคคลที่สามเพียงแห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คำว่า “แห่งชาติจีน” ในชื่อองค์กร มีคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินแห่งรัฐภายใต้รัฐสภาจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริหารงานและกำกับดูแล

 

โดยสำนักงานกำกับดูแลการตลาดแห่งชาติจีนและด่านศุลกากรจีน เครือข่ายบริการครอบคลุมถึง 34 ประเทศ หน่วยงานสาขามากกว่า 400 แห่งทั่วโลก ห้องปฏิบัติการกว่า 200 แห่ง มี 2 สัญลักษณ์ใหญ่ ได้แก่ CCIC และ CQC ทำให้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดและกลุ่มลูกค้าจีน

 

บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหน่วยงานสาขาขององค์กร CCIC ที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2530 ปัจจุบันมีพนักงานร่วม 100 คนเป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้การค้าระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทยเป็นไปอย่างราบรื่น