ปมร้อน fast track ผลไม้ไปจีน

16 ต.ค. 2563 | 16:25 น.
3.2 k

6 สมาคมผลไม้ไทย เตรียมชงหนังสือถึง ก.พาณิชย์ ค้าน fast track  หวั่นกลายเป็นผูกขาด ฮุบตลาดผลไม้ไทย

ปมร้อน fast track ผลไม้ไปจีน

 

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทาง สวพ.6 จัดประชุมหารือเตรียมการรับมือ บริษัท CCIC (ประเทศไทย) จำกัด จากประเทศจีน ซึ่งบริษัทดังกล่าวจะให้บริการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรด้วย หากการติดสติ๊กเกอร์ QR code ให้ สินค้าที่ส่งออกไปจะได้เข้าช่อง fast track กับ  6 สมาคม  ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนมังคุด และ ด่านตรวจพืชภาคตะวันออก

 

“สาเหตุที่ต้องจัดเพราะเรื่อง สติกเกอร์ผ่าน ช่องทางด่วน (fast track) ยังมีความคลุมเครือและพูดกันไปคนละทิศละทางซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้และเกษตรกรได้ จึงเป็นหน้าที่ของสวพ.6 ที่ต้องเชิญผู้รู้และผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อเตรียมการรับมือก่อนถึง ฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก วันนี้ได้เห็นการรวมพลังขององค์กรชาวสวนและผู้ประกอบการไปในทิศทางเดียวกันก็รู้สึกสบายใจขึ้น”

 

 

ภาณุศักดิ์ สายพานิช

นายภาณุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า เรื่อง "สติ๊กเกอร์ส่วย" ที่คนในวงการเรียกขาน ซึ่งเป็น ช่อง fast track   มติในที่ประชุม 6 สมาคม ได้แก่ สมาคมทุเรียนไทย  สมาคมผู้ประกอบการทุเรียนมังคุด สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก สมาคมชาวสวนลำไยจันทบุรี สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ จะทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ คัดค้านการใช้สติกเกอร์ผ่านช่องทางด่วน (fast track)  เพราะกลัวจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางคนใช้กับคนไม่ใช้ ไม่เสมอภาคแล้วทำให้เกิดปัญหาต่างๆ และเกรงว่าจะกลายเป็นปัญหาการควบตลาด ผูกขาด ได้ในอนาคต เพราะราคาต่อตู้ที่จะต้องเสีย 3,500 บาทต่อตู้  แล้วในอนาคตอาจจะปรับราคาขึ้นอีก ไม่มีจุดจบ แล้วสุดท้ายจะกระทบกับผู้ประกอบการ เกษตรกร เพราะฉะนั้นในที่ประชุมลงความคิดเห็นตรงกันว่าไม่ควรจะมีด่านตรงนี้ แล้วจะทำหนังสือคัดค้านไปที่กระทรวงพาณิชย์ เพื่อ ป้องกันการฮุบตลาดผลไม้ไทย

เพจสมาคมทุเรียนไทย ได้โพสต์รายละเอียดบริษัท "ซีซีไอซี" ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า  "CCIC" เพิ่งจะเคยได้ยินชื่อมาเมื่อไม่นานมานี้จากจากผู้ประกอบการผลไม้ส่งออกและสื่อต่างๆว่า มีการจ่ายเงินเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับของบริษัท CCIC แล้ว CCIC คือใคร? ทำอะไร? เป็นที่มาของการประชุมหารือกันจัดโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) เรื่องการส่งออกผลไม้กรณีการจัดทำสติกเกอร์ผ่านช่องทางด่วน (fast track)  ซึ่งจากการค้าข้อมูล พบว่า  บริษัท CCIC Guangxi (China Certification & Inspection Group Guangxi Co.,Ltd) เป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้รัฐบาลจีน เทียบได้กับเป็นรัฐวิสาหกิจ ให้บริการตรวจสอบย้อนกลับ

 

ปมร้อน fast track ผลไม้ไปจีน

 

แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งออก CCIC  มีเครือข่ายให้บริการกว่า 34 ประเทศ โดยบริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนก่อตั้งในปี 2530 เป็นบริษัทลูกเพียงแห่งเดียวที่เป็นลักษณะกิจการร่วมค้า (Join venture) ดำเนินธุรกิจด้านการ “ตรวจสอบ วินิจฉัย รับรอง และทดสอบ” โดยมีธุรกิจหลัก คือ ตรวจสอบคุณภาพและรมกำจัดศัตรูพืชในข้าวหอมมะลิ และมันเส้น ก่อนส่งออกไปจีนและตรวจสอบรับรองคุณภาพยางพาราก่อนส่งออกไปจีน เป็นต้น

 

การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับของบริษัท CCIC เป็นเพียงการช่วยให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถตรวจสอบข้อมูลสินค้าและเอกสารต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากทาง บริษัท ซี ซี ไอ ซี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ตรวจทานเอกสารต่างๆ ให้แล้ว แต่อย่างไรก็ดี สินค้าที่มาถึงด่านยังคงต้องดำเนินการตรวจสอบและกักกันสินค้าตามมาตรการปกติ เพื่อตรวจสอบว่ามีแมลงและศัตรูพืชกักกัน หรือมีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานหรือไม่เช่นเดิม มิได้รับยกเว้นการสุ่มตรวจตามมาตรการสุขอนามัยพืชแต่อย่างใด

 

ปมร้อน fast track ผลไม้ไปจีน

 

ส่วนกรณีปัญหาสติกเกอร์ผลไม้ไทยส่งออกไปจีนที่สืบเนื่องมาจากปัญหาการสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยจากประเทศอื่น และผลกระทบจากปัญหา COVID-19 ที่ทำให้รถติดหนาแน่นที่ ด่านโหย่วอี้กวน เมื่อเดือนเมษายน 63 ทางCCIC ได้แก้ปัญหากับด่านโดยใช้ระบบ QR code และ เรียกเก็บค่าสติกเกอร์ QR code สำหรับทุเรียน ตู้ละ 3,500 บาท  ถึงแม้ว่าระบบดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการของสำนักศุลกากรของจีนแล้ว และโดยการสมัครใจของผู้ประกอบการ มิได้เป็นการบังคับของศุลกากรจีน แต่ยังไม่เคยหารือกรณีนี้กับกรมวิชาการเกษตรแต่อย่างใด

 

จากข้อมูลดังกล่าวในที่ประชุมมีมติเห็นพ้องว่ามาตรการการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาวทั้งยังเป็นการเพิ่มต้นทุนและเป็นภาระของผู้ประกอบการ และจะมีผลกระทบกับเกษตรกรในอนาคต จึงเป็นที่มาของการคัดค้านการใช้สติกเกอร์ผ่านช่องทางด่วน (fast track)