พาณิชย์ ทบทวน fast track ผลไม้ไปจีน

26 ก.ย. 2563 | 17:30 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2563 | 09:44 น.
1.7 k

​​​​​​​อธิบดีกรมการค้าภายใน สั่งทบทวนโครงการใหม่พร้อมตรวจสอบบริษัท "ซีไอซี” ตั้งถูกกฎหมายหรือไม่ พร้อมดึงแถลง ด่าน fast track ต่อผู้ค้าผลไม้ ด้าน เกษตรกร ผวาโดนผลักภาระค่าใช้จ่ายต้นทุนเพิ่ม

จากที่บริษัท ซีซีไอซี (ประเทศไทย) จำกัด จากประเทศจีน จัดทำสติกเกอร์ ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกผลไม้แล้วจะได้เข้าช่อง fast track ไม่ต้องถูกตรวจหรือเปิดค้นอีกทั้งในไทยและประเทศปลายทาง ช่วยลดระยะเวลา และขั้นตอนในการส่งออกผลไม้ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร (AGQC) ตลาดกลางผักและผลไม้ ในความส่งเสริมของกรมการค้าภายใน จ.ชุมพร (ตลาดมรกต)  ซึ่งผู้ส่งออกหลายรายค้าน ไม่พอใจ เกรงว่าต้นทุนการส่งออกผลไม้จะเพิ่มขึ้นนั้น ล่าสุด นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เรียกผู้ค้า พร้อมกับเชิญผู้แทนจาก บจก.ซีซีไอซี (ประเทศไทย) ได้ชี้แจง มีความคืบหน้า ตามลำดับ

ไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต

 

นายไพบูลย์ วงศ์โชติสถิต อดีตนายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ทาง บจก.ซีซีไอซี (ประเทศไทย) ยืนยันว่า "ทำเพื่อประโยชน์ของเกษตรกร" แต่ทางผู้แทนส่งออกประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุม ก็ได้พูดกันว่า การเก็บค่าใช้จ่ายตู้คอนเทรนเนอร์ละ 3,500 บาท เพื่อเป็นค่าผ่านทางไม่ถูกต้อง เพราะไม่ได้ทำอะไรเลย แต่มาตั้งด่านขายสติ๊กเกอร์ ซึ่งฝ่ายอธิบดีกรมการค้าภายในก็ไม่ยอม แล้วบอกว่าต้องมีการคุยรอบ2 เพราะบริษัทจะมาตั้งด่านไม่ถูกต้อง ไม่ได้ อีกทั้งอธิบดี ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าการมาตั้งบริษัทในประเทศไทยผิดกฎหมายหรือไม่ แล้วมาดำเนินการทำธุรกิจในลักษณะแบบนี้ มาเก็บหัวคิวในลักษณะนี้ ข้าม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้ามกระทรวงพาณิชย์ ข้ามกระทรวงต่างประเทศ เพราะตามพิธีสาร จะต้องขึ้นตามบันทึกเอ็มโอยู แต่บริษัทดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบันทึกลงนามอะไรเลยจะมาเก็บเงินได้อย่างไร ยังไม่จบ จะต้องมีการคุยกันต่อ 

 

สัญชัย ปุรณะชัยคีรี

 

นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า ซีซีไอซีฯ มาชี้แจง fast track เป็นด่านที่ตั้งขึ้นแบบสมัครใจ ไม่ได้บังคับ แล้วส่วนใหญ่คนจีนในไทย จะใช้ช่องทางด่านนี้ส่งออก ก็กลายเป็น 2 ฝั่ง ผู้ประกอบการจีนใช้ แต่ผู้ประกอบการคนไทยไม่ใช้ จะทำให้ของคนไทยไปติดที่ด่าน แต่มาพูดกันคนละมุม อีกฝ่ายพูดนำเข้า แต่มุมของคนไทยพูดส่งออก แต่ถ้ามองภาพรวมดีหรือไม่ ก็ดีทำให้หมดทุกอย่าง สะดวกในการนำเข้าผลไม้ ไม่ผิด แต่ถ้าจะผิดก็คือวันข้างหน้าถ้าเอาเรื่องส่งออกมาเป็นมาตรฐานบังคับใช้ทุกผู้ประกอบการและทุกด่าน นี่คือปัญหา แล้วจะมีการปรับราคาขึ้น จากปัจจุบันตู้ละ 3,500 บาท ปรับขึ้นไปเป็นหมื่น ผู้ประกอบการไม่ตายหรือ ตรงนี่แหละที่เป็นห่วงอนาคต

 

พาณิชย์ ทบทวน fast track ผลไม้ไปจีน

 

 

สอดคล้องกับแหล่งข่าวผู้ส่งออกผลไม้ กล่าวว่า ทางเรายินดีให้ความร่วมมือ fast track ไม่ต้องถูกตรวจหรือเปิดค้นอีกทั้งในไทยและประเทศปลายทาง ช่วยลดระยะเวลา และขั้นตอนในการส่งออกผลไม้ เป็นความคิดที่ดี เพราะรัฐบาลไทยอาจจะทำไม่ได้ แต่ต้องมาถามรัฐบาลไทย และผู้ประกอบการก่อนว่าจะสะดวกหรือไม่ เพราะหากตามนโยบายที่พูดว่าชอบมาก แต่ทำจริงหรือไม่ ก็สรุปว่า ซีไอซี ในประเทศจีนไม่น่าจะทราบเรื่อง ตอนนี้อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้พูดในที่ประชุมว่าเห็นด้วยกับสติ๊กเกอร์ แต่ก็ต้องมาถามมาตรฐานในไทยก่อนก็ได้มีการสั่งถอยและชะลอโครงการนี้แล้ว สัปดาห์หน้าจะเรียก "กรมวิชาการเกษตร" และ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)  ประชุมร่วมกัน หากมาตั้งในลักษณะนี้ กระทรวงต่างๆ รัฐบาลไทยก็ต้องยุบหน่วยงานพวกนี้ 

ฉัตรกมล มุ่งพยาบาล

 

ด้าน นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย กล่าวว่า  ทางสมาพันธ์ฯ ทราบมาเป็นปีแล้ว ว่าหากใครผ่านช่องทางนี้ รวดเร็ว สมกับชื่อ fast track ไม่ต้องถูกตรวจหรือเปิดค้นอีกทั้งในไทยและประเทศปลายทาง หากพ่อค้า ล้ง เกิดค่าใช้จ่ายตรงนี้ จะผลักภาระต้นทุนมาให้ชาวสวน นี่คือข้อกังวลว่า ต้นทุนของชาวสวนจะเพิ่มขึ้นนอกจากปัญหาภัยแล้งแล้ว