นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการประชุมขับเคลื่อนการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-Map ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR–Map) ของกรมทางหลวง (ทล.) โดยปัจจุบัน ทล. ได้จัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) แล้วเสร็จ 10 เส้นทาง โดยมีปรับแนวเส้นทางบางช่วงทำให้มีระยะทางรวมประมาณ 7,003 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบรางมีระยะทางทั้งหมด 4,321 กิโลเมตร แบ่งเป็นแนวเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง แนวตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง และวงแหวนรอบกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 จำนวน 1 เส้นทาง
สำหรับผลการดำเนินงานในโครงการนำร่องฯ จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี (แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงนครราชสีมา – แหลมฉบัง เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา – อุบลราชธานี และเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบเส้นทางเบื้องต้น และได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการโดยบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง
ทั้งนี้จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นยังมีข้อกังวลในประเด็นต่าง ๆ เช่น โครงข่ายแนวเส้นทางควรหลีกเลี่ยงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ชุมชนเมืองให้มากที่สุด โดยควรพิจารณาให้รอบคอบเรื่องการเวนคืนพื้นที่พร้อมกันทั้งมอเตอร์เวย์และระบบราง และความเป็นไปได้ทางกฎหมายร่วมด้วย และการจัดลำดับความสำคัญของแผนแม่บท เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนและประชาชน ขณะที่การออกแบบแนวเส้นทาง โดยในการออกแบบมอเตอร์เวย์ควรมีถนนบริการและจุดกลับรถในพื้นที่ที่ผ่านชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการเข้า-ออกพื้นที่ ควรมีการออกแบบเป็นทางยกระดับในพื้นที่ที่ต้องผ่านชุมชนหรือพื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่มต่ำและสิ่งสำคัญในการออกแบบ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อพื้นที่ระบายน้ำ/พื้นที่น้ำท่วม อีกทั้งขอให้พิจารณาการใช้เขตทางให้เหมาะสมทั้งมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ