ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวง ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 1 งานศึกษาจัดทำแผนกลยุทธ์การลงทุนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองโดยใช้เงินค่าธรรมเนียมผ่านทาง เป็นการประชุมในรูปแบบทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากโรงแรมนานาบุรี อ.เมือง จ.ชุมพร มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากจังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง
สำหรับการพัฒนาโครงข่ายแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง หรือ MR-Map มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เขตทางที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ลดการเวนคืนพื้นที่โดยไม่จำเป็น พัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่ ปรับปรุงการเชื่อมต่อโครงข่าย รวมทั้งเพิ่มความสะดวก คล่องตัว และความปลอดภัย สำหรับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า แก้ปัญหาทางรถไฟในเขตเมือง และปรับปรุงการเชื่อมต่อระหว่างประเทศของโครงข่าย
สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ คือ ลดการเวนคืนและแบ่งแยกชุมชน เพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างภูมิภาคและการขนส่งระหว่างประเทศ ลดระยะเวลาในการเดินทางและขนส่ง ลดปัญหาการจราจรติดขัดที่เกิดขึ้นทั้งในเขตเมืองและบริเวณด่านชายแดน และพัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่ โดยใช้การเชื่อมโยงการเดินทางหลากหลายรูปแบบ
นายชุมโชค นันทวิชิต ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(Motor way) ร่วมกับระบบราง หรือ MR-Map แบ่งเป็น 10 เส้นทาง ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งเหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 6,940 กิโลเมตร แบ่งเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง 4,720 กิโลเมตร
ในส่วนของชุมพร-ระนอง อยู่ในเส้นทาง MR 8 แนวเส้นทางวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมต่อท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งทะเล คือฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน (Land Bridge) รองรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC รวมระยะทาง 94 กิโลเมตร
จุดเริ่มต้นของโครงการบริเวณแหลมรั่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ผ่าน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ไปสิ้นสุดโครงการที่บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งเส้นทางที่ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน จะมีการเจาะอุโมงค์ 2 ประเภท คือ
1. อุโมงค์รถยนต์ มี 3 แห่ง ได้แก่ แห่งที่ 1 ความยาว 1.7 กิโลเมตร แห่งที่ 2 ความยาว 3.6 กิโลเมตร อยู่ในเขต อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และแห่งที่ 3 ความยาว 4.7 กิโลเมตร อยู่ในเขต อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และ อ.เมืองระนอง จ.ระนอง
2. อุโมงค์รถไฟ มี 2 แห่ง คือ แห่งที่ 1 ความยาว 1.5 กิโลเมตร อยู่ในเขต อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และ แห่งที่ 2 ความยาว 8.5 กิโลเมตร อยู่ในเขต อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และ อ.เมือง จ.ระนอง
ส่วนของท่าเทียบเรือน้ำลึกนั้น จะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกแห่งใหม่บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง จ.ระนอง เนื่องจากท่าเทียบเรือระนองเดิมที่ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง ระดับความลึกของน้ำไม่ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด.