เปิดข้อเท็จจริงน้ำมันรั่วมาบตาพุด ปริมาณกี่ลิตร สาเหตุจากอะไร เช็คเลย

29 ม.ค. 2565 | 13:44 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2565 | 20:44 น.
5.5 k

เปิดข้อเท็จจริงน้ำมันรั่วมาบตาพุด ปริมาณกี่ลิตร สาเหตุจากอะไร อ่านครบจบที่ไหน สุริยะ รายงานนายกพร้อมตั้งคณะทำงานเพื่อสืบค้นปริมาณการรั่วไหลที่แท้จริง

จากกรณีมีการรายงานตัวเลขน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ซึ่งตั้งอยู่ในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง รั่วไหลจำนวน 4 แสนลิตร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 สร้างความตกใจให้กับประชาชน 

 

 


โดยเหตุเริ่มจาก เมื่อเวลา 22.10 น. สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) ได้รับแจ้งเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่น SPM ระยะทางห่างจากแนวชายฝั่งบริเวณพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ประมาณ 10.5 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 16.898 กม. คาดว่าเวลาที่เกิดเหตุคือประมาณ 21:00 น. 

 

 

 

บริษัทเห็นว่ามีน้ำมันรั่ว ซึ่งน่าจะมีการรั่วไหลจากบริเวณท่อที่ใช้ในการโหลดจากเรือ โดยเป็นการประเมินเบื้องต้นในช่วงของการเกิดเหตุการณ์กลางดึกของวันที่ 25 มกราคม 2565 

จากนั้นบริษัทจึงได้ทำเรื่องขออนุมัติจากกรมควบคุมมลพิษเพื่อฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน Dispersant จำนวน 4 หมื่นลิตร เพื่อทำให้น้ำมันแตกตัว อย่างไรก็ตาม เวลา 00.00 น. 

 

 

 

เจ้าหน้าที่ทางเรือสามารถหยุดการรั่วไหลของน้ำมันได้ ซึ่งบริษัทได้ประเมินปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันจากกรณี Worst case จากการกระจายตัวของน้ำมันว่า มีน้ำมันรั่วไหลจากท่อที่ใช้ในการโหลดจากเรือประมาณ 4 แสนลิตร 

 

 

 

ผู้ว่า กนอ. ลงพื้นที่ตรวจหาสาเหตุน้ำมันรั่ว

 

 

อย่างไรก็ดี ช่วงสายของวันที่ 26 มกราคม 2565 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กองทัพเรือภาคที่ 1 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล จ.ระยอง (ศร.ชล.จว.รย.) ศูนย์ควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง

 

 

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ระยอง กรมเจ้าท่า อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จ.ระยอง และบริษัท SPRC เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ทันที 
 

โดยได้รับรายงานการตรวจสอบและประเมินครั้งที่ 2 ว่า คาดว่าน้ำมันดิบรั่วไหลจากบริเวณท่ออ่อนส่งน้ำมันด้านบน เมื่อคำนวณแล้วคาดว่าปริมาณน้ำมันรั่วที่แท้จริงประมาณ 1.6 แสนลิตร หรือคิดเป็น 128 ตัน คิดเป็น 0.04% ของน้ำมันในเรือ ซึ่งมีความจุประมาณ 3.2 แสนตัน

 

 

 

วันที่ 27 มกราคม 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.

 

 

รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมเพื่อรับทราบสถานการณ์ พร้อมทั้งหารือแนวทางแก้ไขและมาตรการป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ โดยมีผู้แทนจากบริษัท SPRC เข้าร่วมชี้แจง ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง

 

 

 

น้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล

 

 

 

จากนั้นในช่วงบ่าย บริษัท SPRC ได้ส่งนักประดาน้ำเพื่อสำรวจหาจุดเกิดเหตุที่แท้จริง พบว่าเกิดการรั่วไหลบริเวณท่ออ่อนส่งน้ำมันด้านล่าง (Submarine Hose) ทำให้สามารถคำนวณปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลจากท่ออ่อนดังกล่าว โดยใช้หลักการทางวิศวกรรม (Pressure Balance) ว่า มีปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลประมาณ 5 หมื่นลิตร

 

 

 

ดังนั้น เมื่อลำดับเหตุการณ์ดูจะพบว่า ตัวเลขของน้ำมันดิบรั่วไหลที่พบว่าลดลงนั้น จึงไม่ใช่การปกปิดตัวเลขแต่อย่างใด แต่เป็นการคำนวณปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลจากท่ออ่อนส่งน้ำมันด้านล่าง (Submarine Hose) ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ โดยใช้หลักการทางวิศวกรรม (Pressure Balance)

 

 

 

สำหรับสาเหตุที่ไม่สามารถหาจุดที่น้ำมันดิบรั่วไหลได้ทันทีนั้น เนื่องจากท่อดังกล่าวมีอายุการใช้งานมาแล้วถึง 26 ปี จึงไม่มีเซ็นเซอร์บอกจุดที่มีการรั่วไหลเหมือนกับท่อรุ่นใหม่

 

 

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ทุ่นและท่อของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) นั้น อยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่าในการกำกับดูแล และอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่แต่ละจังหวัดโดยตรง

 

 

แต่หน่วยงานต่างๆ รวมพลังบูรณาการกันเพื่อปกป้องทรัพยากรทางทะเลของชาติ โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น ที่ถึงแม้ภารกิจหลักคือดูแลโรงงานและโรงกลั่น  แต่ไม่ได้มีอำนาจในการดูแลท่อและทุ่นขนถ่ายน้ำมันในทะเล 

 

 

 

ก็ยังพยายามมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ ทั้งประสานหาเรือหาอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อช่วยแก้ปัญหา

 

 

 

ที่สำคัญ คือ ตัวเลขน้ำมันดิบรั่วไหลที่ถูกนำเสนอในครั้งแรกนั้น สร้างความแตกตื่นให้กับสังคมอย่างมาก หลายหน่วยงานจึงเข้าไปช่วยเหลือบนพื้นฐานที่ว่า เพื่อทำให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องให้ได้มากที่สุด

 

 

โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กนอ. ใช้หลักการของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ระหว่างอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม 

 

 

 

"สิ่งใดที่ กนอ.สามารถให้ความช่วยเหลือได้ก็พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะพื้นที่มาบตาพุดก็ถือว่าเป็นบ้านของเราเหมือนกัน จึงไม่แปลกที่จะมีสื่อบางสำนักรายงานว่า การเปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบรั่วไหลในครั้งนี้โปร่งใสกว่าในหลายๆ ครั้ง และมีพันธมิตรจากหน่วยงานต่างๆ พร้อมที่จะมาช่วยกันมากที่สุดครั้งหนึ่ง" 

 

 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ขึ้น ฮ. ตรวจสถานการณ์น้ำมันดิบรั่ว

 

 

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ได้รายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้พิจารณาจัดตั้งคณะทำงานเพื่อสืบค้นปริมาณการรั่วไหลที่แท้จริง สาเหตุของปัญหา และวิธีการ/มาตรการการแก้ที่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน 

 

 

 

สำหรับคณะทำงานชุดนี้ประกอบด้วย ผู้แทนจากชุมชนท้องถิ่น ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนจังหวัด ผู้แทนกรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรมควบคุมมลพิษ เป็นต้น 

 

 

 

เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ ความเหมาะสมของวิธีการและวงรอบในการทำการซ่อมบำรุงระบบต่างๆ ในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงออกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เมื่อได้ผลสรุปจะนำไปพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป