ยื่น ป.ป.ช. ฟัน ทุจริตขายยาง 1.04 แสนตัน

27 ก.ย. 2564 | 12:54 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2564 | 20:15 น.
2.7 k

“ทวี สอดส่อง “ นัดยื่น “ป.ป.ช.” 29 ก.ย.นี้ ฟัน “พล.อ.ประยุทธ์- ผู้ว่าฯ กยท.” เอื้อ “นอร์ทอีส รับเบอร์” ขายยาง โล๊ะสต๊อก 1.04 แสนตัน ให้ชดใช้แบบ คดีจำนำข้าว” ทำให้รัฐเสียหาย

สืบเนื่องจากการอภิปราย (31 ส.ค.64) ของ  พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม,นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ได้เสนอไปแล้วนั้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  มีตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)นั้น  ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ

 

พรรคประชาชาติ

 

แหล่งข่าวจากพรรคประชาชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ทางพรรคประชาชาติ โดยพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง จะนำคณะทีมไปยื่นหนังสือ กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในวันที่ 29 กันยายน 2564 ที่จะถึงนี้ เพื่อให้ทาง ป.ป.ช. ไต่สวนและดำเนินคดีกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย และ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย

 

“การขายยางในสต๊อกของรัฐบาล จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หรือหากอ้างว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ก็จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 7 วรรคสี่ ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ กล่าวคือจะต้องมีกฏหรือระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุตามหลักเกณฑ์และแนวทางของพระราชบัญญัตินี้ โดยอย่างน้อยจะต้องมีหลักการตามมาตรา 8

 

วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันที่กำหนดว่า การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ และต้องสอดคล้องกับหลักการ (2)โปร่งใส โดยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุต้องกระทำโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน มีระยะเวลาที่เหมาะสมเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ มีหลักฐานการดำเนินการอย่างชัดเจน”

 

ข้อเท็จจริง ปรากฏว่า การยางแห่งประเทศไทยกำหนดให้ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิร่วมการเสนอราคากับการยางแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 9 ถึง วันอังคารที่ 20 เมษายน 2564 ก่อนเวลา 16.30 น. และมีเงื่อนไขว่า ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการเสนอราคาเป็นแคชเชียร์เช็คมูลค่า 200 ล้านบาท สั่งจ่ายการยางแห่งประเทศไทยและหลักฐานแสดงความสามารถในการชำระเงิน (หลักฐานที่ธนาคารรับรองไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท) พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ซึ่งการลงนามในประกาศดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564  ไม่ทราบเวลาที่ลงนามที่แน่ชัด และวันที่ 10-15,17-18 เมษายน 2564 เป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดสงกรานต์  คงเหลือวันทำการ คือวันที่ 16 และวันที่ 19-20 เมษายน 2564 รวม 3 วันทำการ

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาตามนัยมาตรา 8 พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 การจัดซื้อจัดจ้างจะต้องมีระยะเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอและเมื่อพิจารณาระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 (ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยได้นำข้อ 56 มาใช้ในการให้บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะทั้งที่มาร่วมเสนอราคาเพียงรายเดียว)

ตามในข้อ 51 (4) กำหนดให้การเผยแพร่ประกาศการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ให้กำหนดไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ และตามข้อ 63 วิธีสอบราคาซึ่งใช้ในวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท กำหนดให้เผยแพร่ประกาศไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ แต่ประกาศการยางแห่งประเทศไทย เป็นการขายยางจำนวน 104,763.35 ตัน มูลค่าที่รับซื้อมากว่า 9,000 ล้านบาท กลับกำหนดให้ระยะเวลาลงทะเบียนเพียง 3 วันทำการ ทั้งหลักฐานในการลงทะเบียนยังต้องใช้หลักฐานรับรองจากธนาคารแสดงความสามารถชำระเงินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และหลักทรัพย์ค้ำประกัน 200 ล้านบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ประกอบการทั่วไปที่ไม่สามารถรู้ข้อมูลภายในล่วงหน้าจะเข้าร่วมการลงทะเบียนเสนอราคาได้

 

จากการตรวจสอบไทม์ไลน์พบว่า บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ซื้อ ได้เตรียมการด้านเงินทุนและด้านเอกสารพร้อม ๆ ไปกับการเตรียมการประกาศขายยางของการยางแห่งประเทศไทย การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นเจตนาทุจริต กีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อเพียงรายเดียว  ปรากฏตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และตารางไทม์ไลน์การดำเนินงานเพื่อขายยางของการยางแห่งประเทศไทย และการเตรียมการล่วงหน้าของบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ซื้อ เอกสารที่ส่งมาด้วย หมายเลข 7 และ 9

 

เมื่อพิจารณา ประกาศการยางแห่งประเทศไทย ตามข้อ 5 กำหนดให้ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิร่วมเสนอราคากับการยางแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 9 ถึงวันอังคารที่ 20 เมษายน 2564 ก่อนเวลา 16.30 น. โดยในประกาศมีหัวข้อ 1.คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล 2.หลักฐานเอกสารที่ใช้ในการลงทะเบียน 3. หลักฐานและหลักทรัพย์ที่ใช้ในการค้ำประกันประมูลยาง 4. หลักเกณฑ์การประมูลที่กำหนดว่าผู้เสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการเสนอราคา 5.หลักเกณฑ์การชำระเงิน 6. หลักเกณฑ์การรับมอบยาง ประกาศตามข้อ 5 การยางแห่งประเทศไทยกำหนดเฉพาะหลักฐานเอกสารที่ใช้ในการลงทะเบียนเท่านั้น

 

แต่ไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับการเสนอราคา โดยเฉพาะ การเสนอราคาเป็นเงินบาทหรือไม่ การเสนอราคาเสนอได้เพียงครั้งเดียวหรือไม่ การยืนราคากี่วัน และไม่ปรากฏกำหนดแบบในการเสนอราคา ไม่ปรากฏการกำหนดวันในการเสนอราคา ผู้ประกอบการทั่วไปย่อมไม่อาจเข้าใจได้ว่า จะต้องเสนอราคาอย่างไร และในวันใด การกำหนดรายละเอียดในการประกาศดังกล่าว จึงมีลักษณะที่กระทำโดยมิชอบ เจตนาทุจริต มุ่งหมายให้มีการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนเพียงรายเดียว

 

อีกทั้ง ประกาศการยางแห่งประเทศไทย ตามข้อ 5 กำหนดให้ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิร่วมเสนอราคากับการยางแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 9 ถึง วันอังคารที่ 20 เมษายน 2564 เวลา 16.30 น. ปรากฏข้อเท็จจริงจากคำอธิบายการยางแห่งประเทศไทย ว่า “วันที่ 20 เมษายน 2564 บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)ได้เข้ายื่นเสนอราคาซื้อยางโดยมีคุณสมบัติครบถ้วนในการเข้าเสนอซื้อราคาและนำเสนอเอกสารครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดทั้ง 7 ข้อ ซึ่งแม้ว่าเป็นการเสนอราคาเพียงรายเดียวก็สามารถดำเนินการได้

 

โดยคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นประโยชน์ต่อรัฐ เนื่องจากราคาที่เสนอซื้อเป็นราคาที่สูงกว่าราคากลาง ดังนั้น การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงมีมติเห็นชอบให้เปิดซองเสนอราคาซื้อยางของบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)  จากข้อเท็จจริง ระยะเวลาตามประกาศข้อ 5 ให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมเสนอราคาไปสิ้นสุดในวันที่ 20 เมษายน 2564 เวลา 16.30 น. โดยประกาศดังกล่าวไม่ได้กำหนดวันเปิดซองการเสนอราคาและ ไม่ปรากฏว่า การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ได้ใช้ช่วงเวลาใดของวันที่ 20 เมษายน 2564 หลังเวลา 16.30 น.ในการพิจารณาคุณสมบัติของบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 เมษายน 2564 

 

จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่านายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ได้เร่งรีบลงนามประกาศให้บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ก่อนที่คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยจะมีมติเห็นชอบ ต่อมาในวันที่ 23 เมษายน 2564 คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยจึงเพิ่งได้มีมติเห็นชอบหลังจากประกาศให้บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ชนะประมูลไปแล้ว อันเห็นได้ว่ามีความผิดปกติในทุกขั้นตอนการดำเนินการ

 

อีกทั้งคำอธิบายของการยางแห่งประเทศไทย ได้ระบุว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ราคาที่บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) เสนอนั้นสูงกว่าราคากลางที่การยางแห่งประเทศไทย กำหนด จึงมีมติให้เปิดซองเสนอราคาซื้อยางของบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) จะเห็นได้ว่าจากรายงานดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้ทราบราคาที่บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) เสนอก่อนมีมติเปิดซองเสนอราคาซื้อยางของบริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งการกระทำดังกล่าว มีเจตนาทุจริต เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) อย่างชัดเจน ปรากฏตามเอกสารชี้แจงโดย การยางแห่งประเทศไทย ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สภาผู้แทนราษฎร เอกสารที่ส่งมาด้วย หมายเลข 8

 

อีกทั้งประกาศการยางแห่งประเทศไทย ตามข้อ 5 กำหนดขายยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง STR20 และยางอื่น ๆ แบบเหมาคละคุณภาพ และคละโกดัง ทั้งที่ ยางเกือบทั้งหมดเป็นยางแผ่นรมควันอัดก้อน (มียางแผ่นรมควันอัดก้อนปริมาณ 96.14% หรือ 100,717  ตัน) และยางในสต๊อกยังมีสภาพดี เนื่องจากเป็นยางโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวน 53,190.14 ตัน อายุประมาณ 9 ปี และยางโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวน 51,572.88 ตัน อายุประมาณ 4 ปี ซึ่งมีเพียงบางส่วนที่อาจเสียรูปทรงบ้าง

 

แต่ก็ถือว่าเป็นยางแผ่นรมควันอัดก้อน ซึ่งผ่านกรรมวิธีการแปรรูปและนำความชื้นออกแล้วทำให้มีเนื้อยางบริสุทธิ์ถึงประมาณ 98% ขึ้นไป คุณสมบัติคงทน ไม่เน่า ไม่เสีย จึงไม่ใช่ยางก้อนถ้วยหรือขี้ยาง จึงต้องดำเนินการขายโดยอ้างอิงราคายางแผ่นรมควันอัดก้อนในราคาตลาดเป็นหลัก ไม่ใช่จัดทำราคาเหมาคละอยู่ที่ 37.01 บ./กก. ซึ่งต่ำกว่าราคาขี้ยาง นอกจากนี้ การอ้างยางเสื่อมสภาพจะขัดกับหลักฐานของ กยท. ที่รายงานต่อ กนย. เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2563 ซึ่งมีการประเมินราคายางในสต๊อกของรัฐ อยู่ที่ราคาตลาด FOB (1 ต.ค.62)  44.50 บ./กก. หักลบ 4.83 บ./กก. (เท่ากับ 39.67 บ./กก.)

 

ประเทศไทยเคยเป็นสมาชิกองค์การยางระหว่างประเทศ หรือ INRO เคยเก็บยางนานถึง 17 ปียังไม่เสื่อมสภาพ นอกจากนี้หากอ้างยางเสื่อมสภาพจะต้องมีการดำเนินการกับ เจ้าของโกดัง และผู้รับประกัน ตามเงื่อนไขของสัญญา ทั้ง ๆ ที่ได้จ่ายค่าใช้จ่ายทั้ง 2 รายการ ปีละ 129 ล้านบาท แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

 

จากการสังเกตการณ์โกดังที่จัดเก็บยางสต๊อกของรัฐที่มีการทำสัญญาขายให้บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) พบว่า ยางในสต๊อกของรัฐ เป็นยางแผ่นรมควันอัดก้อน มีสภาพดี ไม่ได้เสื่อมสภาพดังที่การยางแห่งประเทศไทยกล่าวอ้าง

 

 

อย่างไรก็ดีการขายสัญญาขายยางให้แก่ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 28 เมษายน 2564 ที่ได้รับทราบเปิดเผยกันมีการขายกันในราคาเพียง 37.27 บาทต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าราคาที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รับซื้อมาจากเกษตรกรกว่าหนึ่งเท่าตัว (ราคาเฉลี่ยที่ซื้อมาจากเกษตรกร 82.85 บาท/กิโลกรัม) ราคาซื้อขายยางในตลาดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 อยู่ที่ 64.05 บาท/กิโลกรัม

 

อีกทั้งตามสัญญาข้อ 3 ยังกำหนดให้ผู้ประมูลได้ ขนยางออกไปจากโกดังให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ซึ่งปกติการขนย้ายยางจำนวน 104,763.35 ตัน 17 โกดัง ออกไปจากโกดังภายใน 1 เดือน ไม่สามารถทำได้ การซื้อยางครั้งนี้ จึงเป็นการซื้อยางเพื่อขายต่อเท่านั้น การขายยางจำนวนนี้จึงเป็นการขายยางที่ทำลายเสถียรภาพราคายางในประเทศ ทำให้ราคายางในท้องตลาดในประเทศตกต่ำลง สร้างความเดือดร้อนแก่เกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก

 

 

โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณที่รัฐบาลต้องชดเชยเงิน จำนวน 9,955 ล้านบาทเศษ การขายในราคา 37.27 บาท/กิโลกรัม เป็นเงิน 3,904 ล้านบาทเศษก่อให้เกิดการสูญเสียงบประมาณของรัฐ (ผลขาดทุน) จำนวน 6,051 ล้านบาทเศษ

 

 

ตั้งข้อสัเกต การประเมินราคายางในสต๊อกของรัฐขึ้นใหม่ ที่ 37.01 บ./กก. มีการใช้วิธีการประเมินมูลค่าสต๊อกยางที่แตกต่างจากหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่รายงานตามมติ กนย. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 63 ทำให้รัฐต้องรับผลขาดทุนเพิ่มขึ้น จึงต้องจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และผลขาดทุนรวมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับ เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี ก่อนดำเนินการประมูลและทำสัญญาขาย ตามนัยมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด

 

การที่นายเฉลิมชัย อ้างว่าให้ใช้วิธีตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 215 แสดงให้ปรากฏชัดได้ว่าการดำเนินการประกาศประมูลยางครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ การขายทอดตลาดของการยางแห่งประเทศไทยจะต้องมีการประกาศขายทอดตลาด โดยเงื่อนไขประกาศจะต้องระบุในเรื่องต่อไปนี้

 

  •  ประกาศต้องกำหนดการดูสถานที่รับฟังรายละเอียด

 

  • ประกาศต้องกำหนดวันรับฟังคำชี้แจงพร้อมกัน ซึ่งคณะกรรมการขายทอดตลาดจะแจ้งราคาประเมินซึ่งเป็นราคาเริ่มต้นในการประมูลให้ผู้เข้าร่วมประมูลราคาประกอบการตัดสินใจ

 

  • ประกาศต้องกำหนดวันประมูลขายทอดตลาดว่าเป็นวันใด  ณ สถานที่ใด

 

  • ประกาศต้องกำหนดวิธีการเสนอราคาแต่ละครั้ง คณะกรรมการขายทอดตลาดจะขานราคาที่เสนอ 3 ครั้ง สำหรับครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ผู้สนใจเสนอราคาให้สูงขึ้นอีกย่อมกระทำได้ ต่อเมื่อคณะกรรมการได้ขายราคาครั้งสุดท้ายครบ 3 ครั้งแล้ว หรือเคาะไม้ให้ถือเป็นราคาสูงสุด

 

แต่การประกาศขายยาง 104,763.35 ตัน ในครั้งนี้ ไม่ได้มีการกำหนดในลักษณะดังกล่าว ทั้งไม่ใช่และไม่เข้าวิธีการใดๆ ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และข้อบังคับคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการพาณิชย์ พ.ศ. 2561 จึงเป็นประกาศประมูลขายยาง ที่กระทำโดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย เป็นการประกาศขายยางด้วยวิธีการตามอำเภอใจ จึงเป็นการกระทำที่มิชอบและโดยทุจริต

 

อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับการประมูลขายยางเมื่อปี 2559 จะพบว่าการยางแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการประมูลขายยางโดยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ และใช้ราคาตลาดเป็นฐานราคาในการประมูล โดย บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้เข้าร่วมการประกวดราคาในครั้งนั้นด้วย และราคาที่ประมูลได้ก็เป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 11 แต่การประมูลครั้งนี้กลับมีการกำหนดราคาต่ำกว่าราคาตลาด และไม่มีการแข่งขันราคา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการประมูลยางในครั้งนี้มีความผิดปกติอย่างมาก

 

มองต่างมุม หากการขายยางของการยางแห่งประเทศไทยครั้งนี้ ไม่ใช้วิธีขายเหมาคละ แต่ขายเฉพาะยางแผ่นรมควันอัดก้อน ซึ่งมีจำนวนถึง 96.14% ของยางทั้งหมด มีปริมาณ 100,717 ตัน ราคายางในตลาด เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 เท่ากับ 64.05 บาท/กิโลกรัม ก็จะสามารถขายได้ในราคาใกล้เคียงกับราคาตลาด ซึ่งสูงกว่าราคาที่การยางแห่งประเทศไทยขายให้แก่บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ในราคา 37.27 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเป็นอย่างมาก และเป็นการทำตาม พรบ.การยางแห่งประเทศไทย ที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของราคายางเอาไว้  โดยปรากฏความเสียหายดังนี้

 

 

  • ผลขาดทุนจากการทุจริตขายยางต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 3,000 ล้านบาท

 

  • การทำลายเสถียรภาพของตลาดยางพารา จากการขายยางจำนวนมาก ในราคาต่ำกว่าท้องตลาดมาก ทำให้ราคายางในตลาดต่ำลงกว่า 10 บ./กก. เสียหายต่อเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 50,000 ล้านบาท ปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 12

 

 

ดังนั้นการกระทำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และ นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.)  และ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นการทุจริต ทำผิดกฎหมายหลายฉบับโดยสมคบกับ แบ่งหน้าที่กันทำ ร่วมกันทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหาย และเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวคือ ทำให้รัฐขาดทุนจากการขายยางในสต๊อกต่ำกว่าราคาที่รัฐบาลรับซื้อมาจากเกษตรกรกว่าหนึ่งเท่าตัว หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท ที่รัฐต้องชดเชยการขาดทุนด้วยเงินภาษีประชาชน และเป็นการทำลายเสถียรภาพของตลาดยางพาราในประเทศ

 

ทำให้ราคายางพาราในประเทศตกต่ำลงอย่างรวดเร็วกว่า 10 บาท/กิโลกรัม (เดือน พ.ค. 64 ราคาซื้อขายปรับลดลงเหลือ 63.87 บาท/กก. , เดือน มิ.ย.64 ปรับลดลง เหลือ 51.59 บาท/กก. , เดือน ก.ค. 64 ปรับลดลงเหลือ 43.61 บาท/กก. , เดือน ส.ค. 64 ปรับลดลงเหลือ 49.91 บาท/กก.) สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศเป็นเงินกว่า 50,000 ล้านบาท  มีผลประโยชน์ทับซ้อน และเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนเพียงรายเดียว ให้มีสิทธิทำสัญญากับการยางแห่งประเทศไทยซื้อยางในสต๊อกของรัฐในราคาต่ำกว่าราคาตลาดอย่างมาก

 

สามารถขายต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องระบายยางออกนอกประเทศ ขัดต่อวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางและโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง จึงเป็นการกระทำผิด พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 8 (4) มาตรา 9 และ มาตรา 35 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13

 

สรุปบุคคลที่มีชื่อดังกล่าวข้างต้นนี้ กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบและโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157  พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

 

ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 11 ซึ่งให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560  มาตรา 219 วรรคสองด้วย  อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย   พ.ศ. 2560 มาตรา 160 (5) และมาตรา 170 (4)   จึงเป็นที่มาขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวน และดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวนี้ให้เหมือนกับ "คดีจำนำข้าว" ที่ผู้กระทำผิดจะต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งเอกชน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ จนถึงผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน