บิ๊ก “นอร์ทอีสรับเบอร์” เปิดเบื้องลึกคว้าสต๊อกยางรัฐ

12 มิ.ย. 2564 | 09:00 น.
1.6 k

เกาะติด สต๊อกยางรัฐ 1.04 แสนตัน บิ๊ก “นอร์ทอีสรับเบอร์” เปิดเบื้องลึกปิดดีล อย่างเป็นทางการ พร้อมฟันธง เป็นปีทองเกษตรกรไทย

ปิดฉากมหากาพย์ยางพาราในสต๊อกรัฐบาล ในโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รวม 1.04 แสนตัน  โดยผู้ชนะประมูลยกล็อต คือ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)  หรือ NER

 

 

“ฐานเศรษฐกิจ”  สัมภาษณ์พิเศษ นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NER ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาห กรรมยานยนต์ และกลุ่มผู้ค้าคนกลาง ถึงความคืบหน้าการขนยางจำนวนดังกล่าวออกจากคลัง/โกดัง รวมถึงมุมมองทิศทางแนวโน้มราคายางพาราไทยนับจากนี้ 

 

ชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NER

 

  • เร่งขนยางออกภายในมิ.ย.

นายชูวิทย์ กล่าวว่า หลังจากบริษัทชนะประมูลยางในสต๊อกรัฐบาลไปแล้วก่อนหน้านี้ (เซ็นสัญญาซื้อขายเมื่อ 28 เม.ย.64) สถานะการขนยางออกจากโกดัง (ณ 7 มิ.ย.64) เสร็จสิ้นไปแล้ว 12 คลัง จากทั้งหมด 17 คลัง คิดเป็นสัดส่วน 75% ของสินค้า คาดจะขนได้ทั้งหมดภายในเดือนมิถุนายนนี้ โดยสินค้าทั้งหมดได้จ่ายเงินให้ กยท.แล้ว จะเร่งขนยางออกจากคลังไปที่โรงงานให้เร็วที่สุด เพราะวันนี้บริษัทมีภาระค่าใช้จ่ายและค่าเช่าคลัง ค่าประกันภัย ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา จาก กยท.ได้หมดภาระในความรับผิดชอบข้างต้นแล้ว

 

“มีหลายบริษัทมาขอซื้อยางล็อตดังกล่าวจากเรา ผมก็ไม่ได้ขาย เพราะยางประมูลมา แค่ 1.04 แสนตัน จากกำลังการผลิตที่บริษัทตั้งเป้าปี 2564 ไว้ที่ 4.4 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนแค่ 25% แล้วในทีโออาร์ยังมีข้อกำหนดให้เราต้องซื้อยางในท้องตลาดอีก 1.04 แสนตัน ตอนนี้ซื้อยางใหม่พ่วงมาแล้วประมาณ 3 หมื่นตัน เราเองก็ทำงานสองขาไปพร้อมกัน”

 

นายชูวิทย์ กล่าวยืนว่า ทุกอย่างทำตามขั้นตอนทั้งหมดไม่ได้มีนอกมีในอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการที่แต่ละคนจะมีแนวความคิดไปต่าง ๆ นานาหลังบริษัทชนะประมูล เป็นเรื่องที่สามารถพูดได้ ไม่ได้ติดใจอะไร ส่วนเงื่อนไขในทีโออาร์ ต้องบอกว่ารัฐบาล หรือ กยท. เจ็บมาหลายรอบจากการประมูลยางยังมีสัญญาที่ตกค้างกันอยู่ ผู้ซื้อบางคนยังไม่ได้ไปรับยางก็มี เป็นคดีความยังไม่จบ จากการประมูลเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตรงนี้ถึงตอบโจทย์ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ว่าทำไมถึงคิดทีโออาร์และเงื่อนไขในการประมูลแบบนี้ ซึ่งนอร์ทอีสฯสามารถรับเงื่อนไขนี้ได้ จากความตั้งใจที่อยากให้ยางล็อตนี้หมดไป

 

 

บิ๊ก “นอร์ทอีสรับเบอร์”  เปิดเบื้องลึกคว้าสต๊อกยางรัฐ

 

  • ชี้วิน-วินทุกฝ่าย

 

“ผมมองว่า วิน-วิน ทุกคน ทั้ง กยท. เกษตรกร และ นอร์ทอีสฯได้ยางมา 1.04 แสนตัน ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะรวยจากยางล็อตนี้ ปีนี้เราตั้งเป้าผลิต 4.4 แสนตัน เพราะฉะนั้นยางชุดนี้ที่ได้มาคิดเป็นสัดส่วนแค่ 25% ที่บริษัทต้องการเท่านั้นเอง ไม่ได้มากอะไร แต่คนที่ได้มากก็คือ เกษตรกร ที่ผลิตยางทั่วประเทศประมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพราะแค่ยางขึ้นมากิโลกรัม (กก.)ละ 10 บาท มีเงินเข้ากระเป๋าเพิ่มทันที 5,000 ล้านบาท”

 

พร้อมกันนี้บริษัทได้มีการประเมินหลังจากยางก้อนนี้หลุดพ้นจากภาระของรัฐบาลแล้ว ผู้ซื้อและผู้ใช้จะหันกลับมาซื้อยางในท้องตลาดทั้งหมด เพราะฉะนั้นราคายางในปีนี้โอกาสที่จะปรับลงเป็นเรื่องยาก มองว่าราคายางแผ่นรมควัน น่าจะปรับขึ้นไปอยูที่ 75 บาทต่อ กก. ส่วนยางแผ่นดิบคาดจะอยู่ที่ประมาณ 70 บาท ต่อ กก. ส่วนปีหน้าและปีถัดไป ราคายางจะยังเป็นขาขึ้นไปเรื่อย ๆ จะไม่มีใครเอายางในสต๊อกรัฐบาลมาข่มขู่เพื่อกดราคาจากเกษตรเพราะสต๊อกยางรัฐบาลไม่มีแล้ว 

 

  • แบกค่าใช้จ่ายอื้อ

นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า จากที่บริษัทได้นำยางในสต๊อกไปผลิตเป็นยางแท่ง STR20 จากคุณภาพยางที่เสื่อมมา 8-9 ปี บวกกับสภาพคลังเก็บที่ไม่พร้อมทำให้สภาพหรือคุณภาพของยางเสื่อม เพราะฉะนั้นยางชุดนี้จะตีราคาต่ำกว่าราคาเศษยางแต่ถูกอัดก้อนขนาด 111 กิโลกรัม  มีค่าขนส่งจากโกดัง เพื่อมาที่โรงงานนอร์ทอีสฯ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีค่าใช้จ่ายนำยางมาสับ เพื่อให้ชิ้นเล็กลงสามารถนำเข้าเครื่องจักรได้ 

 

“ค่าใช้จ่ายตรงนี้มีค่าแรงงานค่อนข้างสูง แม้กระทั่งเครื่องจักรที่ผลิตยาง STR20 จะใช้ในการสับขี้ยางที่มีความแข็งน้อย นิ่ม แต่พอเรานำยางแผ่นรมควันที่อัดก้อน 111 กิโลกรัม มาสับเป็นชิ้นเล็ก หรือมาเข้าเครื่องจักรแทนขี้ยาง จากที่มีความแข็งมาก ทำให้มีค่าเสื่อม หรือค่าสึกหรอของเครื่องจักรค่อนข้างสูง ซึ่งต้องลงทุนในส่วนนี้หลายสิบล้านบาท แล้วราคายางที่บริษัทประมูลจาก กยท. ไม่ได้ราคาต่ำมาก หลายคนก็เดาว่าเรามีกำไรสูง ผมก็ไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากเป็น 1 ในเงื่อนไขที่ได้ตกลงกับทาง กยท.ไว้แล้ว”

 

 

  • ยางไทยสู่ช่วงขาขึ้น

อย่างไรก็ดี นายชูวิทย์ มองว่าการประมูลยางในครั้งนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ยางพาราไทยดีขึ้น จากการที่สต๊อกรัฐบาลไม่มี ทำให้ต่างชาติและผู้ใช้ยางเริ่มมีความกังวลว่าจะไม่มียางใช้ จากไทยเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่สุดของโลก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าราคาไม่ได้ปรับตัวลงมา จากก่อนหน้านี้ในการเปิดประมูลราคายางในประเทศจะปรับตัวลดลงทุกครั้ง แต่ในรอบนี้ราคายางปรับตัวขึ้น จากเงื่อนไขการประมูลของ กยท. ทำออกมาค่อนข้างดี รวมถึงการร่างทีโออาร์ออกมาค่อนข้างรัดกุม ป้องกันทุกอย่างไว้ แม้กระทั่งการวางเงินมัดจำค่อนข้างสูง ทำให้การทิ้งออร์เดอร์ทำไม่ได้ ส่งผลให้เวลานี้ราคายางวิ่งอยู่ในระดับสูง

 

“ในส่วนของบริษัทคาดปีนี้จะมียอดขายที่ 2.4 หมื่นล้านบาท จากปี 2563 มียอดขาย 1.63 หมื่นล้านบาท ทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น อยากจะฝากบอกถึงทุกคนในวงการยางพารา เกษตรกร และเพื่อนๆ ในวงการ ว่าต่อไปนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีของวงการยางพารากำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว ขอให้เกษตรกรดูแลต้นยางให้ดี ปีนี้จะเป็นปีทองของวงการยางพารา”

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,686 วันที่ 10 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง