"แสงชัย" ชงรัฐใช้ "SME Wallet" ลดหนี้นอกระบบ เพิ่มแต้มต่อคนตัวเล็ก

22 ก.พ. 2568 | 05:10 น.

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ขานรับนโยบายลดดอกเบี้ย ย้ำสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนและผู้ประกอบการ ลดเหลื่อมล้ำ ต้องเติมแต้มต่อให้คนตัวเล็ก

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขอสนับสนุนนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทบทวนการ “ลดดอกเบี้ยให้กับประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี” เพื่อช่วยในการลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูง เพิ่มกำลังซื้อของภาคประชาชน ส่งผลเชิงบวกต่อการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งทางตรงและทางอ้อม ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในการค้า การลงทุนและการบริโภคช่วยในการขับเคลื่อนเพิ่ม GDP ประเทศไทย

\"แสงชัย\" ชงรัฐใช้ \"SME Wallet\" ลดหนี้นอกระบบ เพิ่มแต้มต่อคนตัวเล็ก

“การลดอัตราดอกเบี้ย คือ การสร้างความเป็นธรรมภาคประชาชนและเอสเอ็มอี ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะ “การผลักดอกเบี้ยที่สูงให้เอสเอ็มอี” คือ ต้นตอของภาระหนี้ที่ไม่เป็นธรรมโดยพิจารณาจากโครงสร้างหนี้ครัวเรือนจะพบปัญหา สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีเพียง 34% เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆที่มีสัดส่วนสูงมากในหนี้ครัวเรือน

ขณะที่ประเทศไทยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถูกผลักไปรับอัตราดอกเบี้ยสูง อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล สูงถึง 19% บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด 8% ซึ่งสินเชื่อเพื่อธุรกิจที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่ากลับมีสัดส่วนเพียง 18% ของหนี้ครัวเรือน ส่วนการสำรวจความต้องการของเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องการสินเชื่อแหล่งทุนเพิ่มเติมเพื่อการเพิ่มสภาพคล่อง 82% ใช้หนี้เดิม 10% และเพื่อการลงทุนปรับปรุงกิจการเพิ่มเติม 8%”

แนวโน้มการถาโถมดอกเบี้ยที่ส่งผลต่อเอสเอ็มอี ประชาชนเป็นหนี้นอกระบบมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดย สสว. ได้สำรวจวิจัยจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปี 2567 พบว่า ความรุนแรงของหนี้นอกระบบเพิ่ม การเข้าถึงหนี้ในระบบลดลง อย่างไตรมาส 4/2567 หนี้นอกระบบ 46%

\"แสงชัย\" ชงรัฐใช้ \"SME Wallet\" ลดหนี้นอกระบบ เพิ่มแต้มต่อคนตัวเล็ก

ทั้งนี้เอสเอ็มอีที่มีหนี้อยู่ในระบบมีสัดส่วนสำคัญ คือ ระบบสถาบันการเงินภาครัฐและสถาบันการเงินเฉพาะกิจถึง 24% ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์ 11% ไฟแนนซ์ ลิสซิ่ง 4% สหกรณ์ 4% สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันการเงินภาครัฐและเฉพาะกิจดูแลเอสเอ็มอีจำนวนมากและควรทบทวนกลไก บสย.ในการค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนในระบบเพิ่มมากขึ้นโดยมุ่งเป้าเอสเอ็มอีให้เข้าระบบสถาบันการเงินรัฐมากขึ้น

นายแสงชัย  กล่าวอีกว่า อยากให้รัฐบาลนำ “SME Wallet” ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนและทำให้รายย่อยมี digital footprint ทางการเงิน “ส่งเสริม Credit scoring ทั้งทางด้านการเงินและที่ไม่ใช่ทางด้านการเงิน” อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเข้าถึงมาตรฐานสินค้า บริการที่สำคัญ การใช้ประโยชน์ดิจิทัลเทคโนโลยี AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน สร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ การใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ เป็นต้น

“ต้องขยายผลการนำระบบ “Business Development Services” (BDS) ในวงกว้างให้เกิดการสร้างความตระหนักรู้ เข้าถึงเอสเอ็มอีทุกกลุ่มในการมี SME One ID และเข้าสู่กลไกพัฒนาตามความต้องการผู้ประกอบการที่แท้จริงเป็น “แต้มต่อให้คนตัวเล็ก” ยกระดับขีดความสามารถอย่างต่อเนื่องและนำไปสู่การแข่งขันที่สร้างความยั่งยืน ดอกเบี้ยที่เป็นธรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการลดภาระหนี้สิน แต่การยกระดับกลไกการเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอีและภาคแรงงานของภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนจริงจังต่อเนื่องควบคู่กันไปด้วย”