ดีลยางแสนตันระเบิดลูกใหม่บอมบ์รัฐบาล

12 ส.ค. 2564 | 12:09 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2564 | 19:25 น.
3.0 k

ดีลขายสต๊อกยาง 1.04 แสนตัน ปะทุระลอกใหม่  “ชาวสวน-จนท.” ส่งดาบฝ่ายค้านเชือดเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกลาง ส.ค.นี้  “เฉลิมชัย” เผยไม่หนักใจ ผู้ว่าฯ นำเอกสารมาให้ดูดำเนินการ ถูกต้องตามกฎหมาย มั่นใจผ่านศึกซักฟอกฉลุย

เปิดสัญญาซื้อขายยางพารา สัญญาเลขที่ กยท./ค.01/2564  เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ขายยางให้กับ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) จำนวน 1.04 แสนตัน เป็นชนิดยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง STR20 และยางอื่นๆ แบบเหมาคละคุณภาพและคละโกดัง จำนวน 17 โกดัง เป็นราคาซื้อขายทั้งสิ้น 3,904 ล้านบาท โดยผู้ซื้อเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรับมอบ ตลอดจนภาษีอากร ค่าขนย้าย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

 

แหล่งข่าวการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ถึงขั้นตอนการระบายยางใน 2 โครงการที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เห็นชอบให้ กยท. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการระบายให้หมดไปโดยเร็ว โดยคำนึงถึงระยะเวลา และระดับราคาราคาจำหน่ายที่เหมาะสมเพื่อลดภาระงบประมาณและรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐ

 

ทั้งนี้ กยท.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสต๊อกยาง เพื่อดำเนินการตรวจสอบปริมาณยางกำหนดหลักเกณฑ์การปรับลดคุณภาพยาง และการตรวจสอบคุณภาพยาง มีผลปริมาณยางคงเหลือ จำนวน 1.04 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 3,877 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลกรัม (กก.) ละ 37.01 บาท ต่อมา เดือนมีนาคม 2564 กยท.ได้จ้างผู้ประเมินอิสระตามมติคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซล (ประเทศ ไทย) จำกัด ได้ประเมินราคายางสต๊อกเดียวกันเฉลี่ย 33.91 บาทต่อ กก. คิดเป็นเงินกว่า 3,552 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ)

 

เปิดดีลสต๊อกยางแสนตัน

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 คณะกรรมการ (บอร์ด) การยางแห่งประเทศไทย มีมติเห็นชอบการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าเสนอราคา แล้วใช้ราคาที่ กยท.ประเมิน (กิโลกรัมละ 37.01 บาท) ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่า บริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซล (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินไว้ และควรให้มีการระบายสต๊อกยางเสร็จสิ้นภายใน 31 พฤษภาคม 2564 เพื่อลดผลกระทบต่อผลผลิตยางฤดูกาลใหม่

 

กยท. พิจารณาประกาศและพิจารณาคุณสมบัติผู้ประมูลครั้งก่อน จำนวน 15 ราย ซึ่งมีผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น จำนวน 6 ราย คือ 1.บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด (บจก.) 2.บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด 3.บมจ.ไทยฮั้วยางพารา  4.บจก.ไทยแมคเอสทีอาร์ 5.บจก.เซ็นจูรี่ไทล์ (ประเทศไทย) และ 6. บจก.กว๋างเขิ่น รับเบอร์ (ไทยเซาท์เทิร์น) ตามเงื่อนไข ซึ่งปรากฏว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ ได้เข้ายื่นเสนอราคาซื้อยางเพียงรายเดียว

 

โดยทางคณะกรรมการพิจารณาแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อรัฐ เนื่องจากราคาที่เสนอเพียงรายเดียว ที่ราคา 3,904 ล้านบาท (37.27 บาทต่อ กก.) ซึ่งสูงกว่าราคากลางที่ กยท.กำหนด 27 ล้านบาท และสูงกว่าบริษัทอิสระประเมิน 351 ล้านบาท และผู้ชนะประมูลจะต้องซื้อยางอีก 1 เท่าของปริมาณยางที่ประมูลได้อีกกว่า 1 แสนตัน ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา ปัจจุบัน กยท.ได้ดำเนินการส่งมอบยางเสร็จสิ้นแล้ว

 

เฉลิมชัย ศรีอ่อน

 

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้สอบถามรายละเอียดกับ ผู้ว่าฯ กยท. ว่าในการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งผู้ว่าฯ กยท.ได้นำเอกสารมาให้ดูว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ ดังนั้นจึงไม่หนักใจ และมีความมั่นใจว่าสามารถตอบคำถามสังคมได้

 

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) และกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ  (กนย.) กล่าวว่า มีพรรคฝ่ายค้านได้มาขอข้อมูลเรื่องการขายสต๊อกยาง 1.04 แสนตันของ กยท. ซึ่งก็ได้ให้ข้อสังเกตไปว่า ราคายางที่ กยท.ขายได้อยู่ที่เฉลี่ยกิโลกรัมละ 37.27 บาท ยังต่ำกว่าราคาขายเศษยาง (ที่ 47 บาทต่อ กก. ณ วันที่ 9 เม.ย.64 ที่ กยท.ประกาศขายยางในสต๊อก) เป็นเหตุให้รัฐต้องชดเชยผลขาดทุนมากขึ้น ซึ่งเงินเหล่านี้เป็นภาษีของประชาชน

 

 “การขายยางที่เกิดผลขาดทุนที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งการขายยางได้ครั้งนี้ กยท.ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่ออนุมัติก่อนลงนามในสัญญาซื้อ แต่ก็ไม่ได้ทำ เพราะมีผลต่อการตั้งงบประมาณชดเชยผลขาดทุนให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เจ้าของเงินที่นำมาซื้อยาง กรณีผลขาดทุนเกิดจากการขายยางที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ซื้อ และการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ”

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้กรณี กยท.ได้ร่วมทุนกับผู้ประกอบการ ตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราไทยก็มีผลดำเนินงานขาดทุน เป็นผลให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่รับรองงบการเงินของ กยท. ทั้งนี้ กยท.จะต้องรับผิดชอบเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดให้ ธ.ก.ส. โดยได้ให้ข้อมูลเหล่านี้กับพรรคฝ่ายค้านไป เพื่อไปว่ากันในสภา คาดจะมีการยื่นญัตติเปิดขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกลางเดือนสิงหาคมนี้

 

ดีลร้อน ปมซื้อขายยางในสต๊อก 1.04 แสนตันที่ดูเหมือนจะจบไปแล้ว แต่กำลังเป็นอีกหนึ่งระเบิดเวลาลูกใหม่ที่ฝ่ายค้านจะใช้ซักฟอกไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่สุดแล้ว จะเป็นการปิดมหากาพย์ หรือจะเป็นการเปิดแผลใหม่ ต้องจับตา

 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,704 วันที่ 12 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2564