หึ่ง! ล็อกสเปกโละยางแสนตัน ซัดเอื้อ 5 บริษัท

22 เม.ย. 2564 | 19:00 น.
3.8 k

วงการแฉ บิ๊ก กยท.เทขายเหมาสต๊อก 1.04 แสนตัน เอื้อ 5 บริษัท “แกรนด์ รับเบอร์” ชี้ผูกเงื่อนไขพ่วงเยอะเกินไป ด้าน ปธ. เครือข่ายยางใต้ ฮึ่ม! ผู้ว่าฯ- บอร์ด หากประมูลฮั้วพ่อค้า รวมพลขับไล่ 

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ได้ออกประกาศ การยางแห่งประเทศไทย   เรื่องให้เอกชนยื่นข้อเสนอซื้อยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง STR20 และยางอื่นๆ แบบเหมา คละคุณภาพและคละโกดัง จำนวน 17 โกดัง ปริมาณยาง 1.04 แสนตัน โดยผู้ที่เสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการเสนอราคาและต้องเข้าทำสัญญากับ กยท.ภายในวันที่ 22-30 เมษายนนี้ และตามเงื่อนไขผู้ชนะประมูลจะต้องสมัครใจซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีกจำนวน 1 เท่าของปริมาณยางที่เสนอราคาได้ โดยแจ้งผลการซื้อยางดังกล่าวให้ กยท.ทราบภายใน 1 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา (คลิกดาวน์โหลด)  กยท.ประกาศขายยางในสต็อก 1.04 แสนตัน

 

ปัจจุบันรัฐบาลต้องเสียค่าเช่าโกดังในโครงการพัฒนาศักยภาพฯ (โกดังเอกชน 9 โกดัง) เดือนละ 3.854 ล้านบาท หรือปีละ 46.248 ล้านบาท และค่าเช่าโกดังโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ (โกดังเอกชน 3 โกดัง) เดือนละ 3.168 ล้านบาท หรือปีละ 38.016 ล้านบาท ค่าเบี้ยประกันสต๊อกยางประมาณปีละกว่า 35 ล้านบาท ค่าบริหารโครงการ (ค่าจ้างลูกจ้าง รปภ.พาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายสำนักงาน) ปีละ 13 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายปีละ 132.264 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกิโลกรัม(กก.)ละ 1.26 บาท ต่อปี หรือ กก.ละ 0.11 บาทต่อเดือน หาก กยท. ขายยางได้ทั้งหมดก็ไม่มีค่าใช้จ่ายเหล่านี้ 

 

ยางในสต็อก 2 โครงการ

 

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท.

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ทำไมเปิดให้กับบริษัทที่เคยมีผลงานการประมูลยางใน 2 โครงการมาแล้ว รวมทุกสัญญามีมูลค่าไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท เพราะอยากเร่งระบายให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม และกลุ่มที่เคยเข้าประมูล หมายความว่ามีความสนใจยางในสต๊อกนี้จริง และเคยดูยางมาแล้ว ไม่ต้องมานั่งเปิดโกดังให้ดูสภาพอีก ที่สำคัญตนไม่อยากให้นายหน้า หรือนอมินีเข้ามาป่วนและให้ข่าวในทางลบ 

 

“ผมขายทีเดียวไม่ให้นายหน้าเข้ามา ผมยอมโดนด่าจะได้จบทีเดียวเลย และต่อไปค่าเช่าโกดัง และอื่นๆ จะไม่มีอีกต่อไป”

 

ขณะที่แหล่งข่าวผู้ส่งออกยางรายใหญ่ กล่าวว่าจะมีผู้ซื้อสักกี่คน เพราะการขายยางล็อตนี้ระบุว่าต้องเป็นคนไทย ยางส่งออกต่างประเทศไม่ได้ เพราะยางคุณภาพใช้ไม่ได้แล้ว จะต้องมาผลิตเป็นยางแท่งซึ่งผู้ผลิตยางแท่งในไทยหากตัดสัญชาติจีนออกไป ที่จะซื้อได้มีประมาณ 5 รายเท่านั้น มองว่าเป็นการล็อกสเปก ขณะที่มีการออกประกาศให้ต่างประเทศรับรู้ มองว่ามีเป้าหมายแอบแฝง  

ดร.ปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์

 

สอดคล้องกับ ดร.ปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า ปริมาณยางล็อตใหญ่ น่าจะมีปัญหา คิดว่าการประมูลใด ๆ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเข้าถึง ใครเคยเบี้ยวสัญญาให้ขึ้นแบล็กลิสต์ พร้อมตั้งเงื่อนไขการวางมัดจำ ถ้าไม่ทำสัญญาภายในกี่วันก็ยึดมัดจำไป ก่อนมารับของจะให้จ่าย 50-100% ของมูลค่ายางก็ว่ากันไป เพื่อป้องกันปัญหาผิดสัญญา 

 

“ยางล็อตนี้ตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องนำไปปรับปรุง ดังนั้นในทีโออาร์ ถึงระบุว่าจะต้องเป็นบริษัทที่มีโรงงานผลิตและแปรรูปยาง STR20 และมีปริมาณการผลิตในปี 2563 มากกว่า 2 แสนตัน ซึ่งถ้าขายในประเทศ การกำหนดเงื่อนไขถูกต้องแล้ว แต่ในอดีตก็จะมีโรงงานอีกประเภทหนึ่งที่นำยางประเภทนี้ไปใช้ได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ เป็นพวกผลิตภัณฑ์อื่นหรือยางล้อ ที่ต้องการยางคุณภาพไม่สูงมากนัก ซึ่งถ้าเปิดขายจะได้ผู้ซื้อยางหลายกลุ่ม และจะได้ราคาที่สูงด้วย”

 

ทศพล ขวัญรอด

 

ขณะที่ นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่สบายใจกับการเปิดประมูลซื้อขายยางครั้งนี้ เพราะตอนนี้ฝนตกแล้ว เกษตรกรก็เริ่มเปิดกรีดยางแล้ว โดยเฉพาะภาคใต้เริ่มกรีดวันเว้นวัน เพราะค่อนข้างได้ราคาดี ทั้งนี้ในการขายยางในสต๊อกจะมั่นใจได้อย่างไรจะไม่มีการฮั้วกับพ่อค้า เพราะยางไม่มีวันเน่าหากมีการเก็บที่ดี อาจจะมีส่วนเชื้อรา เสียรูปทรงบ้างเป็นเรื่องธรรมดา 

 

ก่อนขายอยากให้ กยท. มีการเช็กสต๊อกก่อนว่ายางคุณภาพดีมีเท่าไร ยางเสื่อมคุณภาพมีเท่าไร อย่ามาอ้างเสียเวลา ยางที่มีคุณภาพควรจะขายได้ในราคาที่สูง ซึ่งการเหมาขายมองว่ามีนัยยะ ควรจะตรงไปตรงมา ส่วนโกดังไหนที่เช่าแล้วทำให้สินค้าเสียหาย แสดงว่าโกดังไม่ได้มาตรฐาน ผู้ว่าฯต้องรับผิดชอบ

 

สภาพยางในโกดังรัฐบาล

 

“ราคายางอยู่ในช่วงขาขึ้น จะมาทุบราคาขายทำไมใจจริงก็อยากขาย เพราะไม่ต้องเสียค่าเช่า แต่วิธีการขายจะเหมาะสมกับเวลาหรือไม่ แล้วราคาขายที่จะตอบโจทย์หรือไม่ ใครที่มีวาระซ่อนเร้น ฮั้วกับพ่อค้าและนายทุน ผมกำลังเก็บข้อมูลอยู่ รอวันปะทุ  หากการขายยางครั้งนี้ไม่โปร่งใส่ ผมจะขับไล่ผู้ว่าฯ กยท. รวมทั้งบอร์ด ด้วย”

 

อนึ่ง กยท.ประกาศขายยางในสต๊อก 1.04 แสนตัน ณ วันที่ 9 เมษายน 2564 โดยก่อนหน้านี้ กยท.ได้ว่าจ้างหลายสถาบันมาประเมินราคาตามสภาพยาง เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.)อนุมัติ การขายยาง โดยในส่วนของมูลค่าของสต๊อกยางโครงการพัฒนาศักยภาพฯ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จำนวน กว่า 6 หมื่นตัน มีมูลค่าลดเหลือประมาณ  2,347.25 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยที่จะขาย 38.63 บาทต่อ กก.  

 

ขณะที่ราคารับซื้อในโครงการเฉลี่ยราคาซื้อ 98.96 บาท ต่อกก. ขาดทุน 60.33 บาท ต่อกก. ส่วนมูลค่าของสต๊อกยางโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ  ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2562 จำนวน 62,794.99 ตัน มีมูลค่าประมาณ 2,491.50 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยรับซื้อมา 59.74 บาท ต่อ กก. ราคาประเมินขาย 39.67 บาท ต่อ กก. ขาดทุน 20.07 บาท ต่อ กก. 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,672 วันที่ 22 - 24 เมษายน พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง