เคลียร์ชัด รฟม.กางไทม์ไลน์ประมูลสายสีส้มรอบใหม่

19 ส.ค. 2564 | 20:42 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2564 | 03:57 น.

รฟม.เดินหน้าจ่อประมูลสายสีส้มเริ่ม ต.ค.นี้ หลังศาลปกครองสูงสุดสั่งจำหน่ายคดีบางข้อหา เผยโควิดระบาดหนักกระทบประมูลล่าช้า ลุยยื่นหนังสือคลังเร่งบรรจุข้อตกลงคุณธรรม คาดได้ตัวผู้รับจ้างมี.ค.-เม.ย.65

นายภคพงศ์   ศิริกันทรมาศ   ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า สำหรับความคืบหน้าการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ปัจจุบันโครงการดังกล่าว ทางศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การประมูล หลังบีทีเอสขอยื่นอุทธรณ์  โดยที่ผ่านมารฟม. ได้ยื่นคำร้องชี้แจงข้อเท็จจริงและขอให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2564 จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีตามคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งพิพาทหมดสิ้นไป ไม่มีเหตุที่จะให้ศาลต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพื่อออกคำบังคับตามมาตรา72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต่อไปอีก และศาลยังได้มีคำสั่งให้ คำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 สิ้นผลบังคับลงไปด้วย

เคลียร์ชัด รฟม.กางไทม์ไลน์ประมูลสายสีส้มรอบใหม่

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่รฟม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน (Market Sounding) ประกอบการพิจารณาจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เมื่อเดือน มี.ค. 2564 ที่มีความล่าช้า เนื่องจากปัจจุบันติดปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงต่อเนื่อง ส่งผลให้การประชุมของคณะกรรมการมาตรา 36 ตาม.พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ไม่สามารถดำเนินการได้ ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบการนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่น นอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ไปกำหนดใช้โดยอนุโลม ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ปราศจากข้อครหาในการดำเนินงาน รฟม. จึงได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เสนอคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตและกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาบรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ให้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนรอรายชื่อผู้ร่วมสังเกตการณ์ เข้าร่วมประชุม

 

 

สำหรับไทม์ไลน์การประมูลสายสีส้มรอบใหม่ ภายหลังจากได้รายชื่อผู้ร่วมสังเกตการณ์เข้าร่วมประชุมแล้ว ทางรฟม.จะเร่งดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการตามาตรา 36 เพื่อพิจารณารายละเอียดร่างเอกสารการการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาการร่วมลงทุน โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นจะประกาศขายเอกสารการประกวดราคาให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ภายในเดือนตุลาคมนี้ และให้เอกชนจัดทำข้อเสนอภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 หรือ 60 วัน คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้าง ภายในเดือนมีนาคม-เมษายน 2565  โดยผู้รับจ้างจะสามารถเริ่มงานระบบรถไฟฟ้าได้ทันที ซึ่งรฟม.จะเร่งดำเนินการในส่วนนี้เพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จทันตามแผนที่วางไว้และไม่กระทบต่อการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออกที่คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณกลางปี 2568 ส่วนสายสีส้มตะวันตกจะเปิดให้บริการหลังจากสายสีส้มตะวันออกเปิดให้บริการแล้ว 3 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปัจจุบันการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 3 คดี ประกอบด้วย 1.ศาลปกครอง คดีที่ภาครัฐออกประกาศยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการชี้แจงข้อมูล  2.คดีเรียกร้องค่าเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประกวดราคา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และ3.คดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งอยู่ระหว่างรอนัดไต่สวน

 


สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)