ไม่จบ ประมูลสายสีส้มส่อลากยาว-รอศาลปกครอง-อาญาคดีทุจริตฯ ตัดสิน

19 ส.ค. 2564 | 14:08 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2564 | 23:20 น.

ศาลปกครองสูงสุดสั่งจำหน่ายคดีเพิกถอนเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม ด้านรฟม.เตรียมเปิดประมูลรอบใหม่ปลายปีนี้ เผยคดียังไม่จบรอลุ้นเพิ่ม 3 คดี ฟากศรีสุวรรณ บุกป.ป.ช.สอบรฟม.ประมูลสายสีส้ม-ม่วงใต้ส่อทุจริต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ที่ให้ใช้การประเมินซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมกันแล้วแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และให้คำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ที่ให้ทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ดังกล่าว ไว้เป็นการชั่วคราว สิ้นผลบังคับลงไปด้วย

 

ขณะเดียวกันในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองชั้นต้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับยกเลิกโครงการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ในครั้งนี้ไปแล้ว 
 

ที่ผ่านมามติของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ที่เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอทางเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมทั้งหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน เอกสารเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่งจึงไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้วเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีในข้อหาที่หนึ่งไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว จึงไม่มีการกระทำที่ศาลปกครองจะพิจารณาพิพากษาต่อไป เป็นเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีในข้อหานี้ได้ 

 

 

ทั้งนี้ภายหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งจำหน่ายคดีที่บีทีเอสฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การประมูล หลังจากบีทีเอสยื่นอุทธรณ์ไปตามขั้นตอน ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่าทางรฟม.จะดำเนินการพิจารณาเปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอีกครั้ง ภายในไตรมาส3-ไตรมาส4ของปีนี้ จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนจำหน่ายคดีดังกล่าวเพียงบางคดีเท่านั้น ซึ่งยังไม่สิ้นสุด ทำให้ในปัจจุบันยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 3 คดี ประกอบด้วย 1.ศาลปกครอง คดีที่ภาครัฐออกประกาศยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการชี้แจงข้อมูล  2.คดีเรียกร้องค่าเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประกวดราคา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และ3.คดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งอยู่ระหว่างรอนัดไต่สวน
 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทนั้น รฟม.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) รวมทั้งได้จัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19

 

ฟากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  ได้กลับมาร้องปปช.เอาผิดฝ่ายบริหาร รฟม.อีกหน โดยพ่วงคดี ประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้แถมพ่วงไปอีกคดี เนื่องจากเส้นทางก่อสร้างที่ต้องสร้างบางส่วนของรถไฟฟา ทั้ง 2 สายทางนั้นต้องมีการก่อสร้าง อุโมงค์ และทางลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีน้ําเงิน ส่วนต่อขยาย หัวลําโพง-บางแค แต่กลับมีการกำหนดเงื่อนไขการประมูลแตกต่างกันออกโรงยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวนเอาผิดกับ ฝ่ายบริหาร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม. กรณีประมูลรถไฟฟ้า 2 สายทาง คือรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน -ราษฎร์บูรณะ เพราะส่อไปในทางไม่โปร่งใสหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้เคยยื่นเรื่องต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอให้ไต่สวนเอาผิดฝ่ายบริหารรฟม.กันกราวรูด  กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์มีนบุรี จนนำไปสู่มติ ของ DSI ให้ส่งเรื่องไปยังปปช.เพื่อไปสวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้องในโครงการดังกล่าวดังกล่าวรูปมาแล้ว

         


แหล่งข่าวในวงการคมนาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมารฟม.ใช้เกณฑ์ปกติในการประมูล โดยตัดสินพิจารณา เอกชนที่จะชนะประมูลจากผู้ที่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิค จึงจะพิจารณาข้อเสนอด้านราคา ซึ่งสามารถคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายได้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เมื่อรฟม.เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสายสีม่วงใต้ กลับนำเอาหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านการเงินประกอบกัน ด้วยข้ออ้าง จำเป็นต้องได้ผู้รับเหมาที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในระดับสูง ทั้งที่เกณฑ์เดิมก็ใช้ได้ดีอยู่แล้ว