ยื่นปปช.สอบ“ผู้ว่า รฟม.”ปมเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้-สายสีส้มตะวันตก

18 ส.ค. 2564 | 13:58 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2564 | 21:05 น.

“ศรีสุวรรณ”ยื่น ป.ป.ช.สอบ “ผู้ว่า รฟม.”เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้-สายสีส้มตะวันตก ขัดพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ส่อทุจริต

วันนี้ (18 ส.ค.64) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย  ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ขอให้ไต่สวนผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ  ผู้ว่าการ รฟม. และวินิจฉัยกรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กำลังจัดประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและสายสีม่วงใต้ ที่มีเงื่อนไขแตกต่างจากสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย  ทั้งๆ ที่ทั้ง 2 สายนี้ มีเส้นทางลอดใต้เกาะรัตนโกสินทร์ และใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน จึงอาจเป็นการกำหนดเงื่อนไขและใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ

 

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีม่วงใต้  มีลักษณะกีดกันผู้ประมูลจากต่างชาติ แม้จะกำหนดว่าเป็นการเปิดประมูลนานาชาติ โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่า ผู้เข้าประมูลจะต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ หรือ รถไฟฟ้าบนดิน หรือ ลอยฟ้ากับรัฐบาลไทย ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทเท่านั้น ผลงานในต่างประเทศห้ามนำมาใช้  

 

เงื่อนไขเช่นนี้ ท้ายที่สุดก็คงเหลือผู้รับเหมาไทยขนาดใหญ่เพียง 4-5 รายเท่านั้น ที่สามารถผ่านด่านนี้ไปได้ และคงได้งานครบกันทุกราย เนื่องจาก รฟม.แบ่งงานประมูลงานโยธาออกเป็น 6 สัญญาไว้ให้แล้ว แบบนี้จะเรียกว่าล็อคสเป็กหรือไม่

                                      ยื่นปปช.สอบ“ผู้ว่า รฟม.”ปมเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้-สายสีส้มตะวันตก

 

ที่สำคัญเงื่อนไขในทีโออาร์ที่ผ่านมาในโครงการของรัฐขนาดใหญ่ และมีมูลค่าสูง  จะมีการกำหนดการพิจารณาคัดเลือก โดยการเปิดซองด้านเทคนิคก่อน แล้วจึงมาเปิดซองด้านราคา  เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย แต่โครงการนี้กลับใช้วิธีการเปิดซองเทคนิคและซองราคาไปพร้อมๆ กัน  ทำให้สามารถใช้ดุลยพินิจลำเอียงให้ผู้ประมูลรายหนึ่งรายใดเป็นการเฉพาะได้ จึงอาจมีลักษณะอย่างไม่เป็นธรรม

 

การดำเนินการดังกล่าวของ รฟม. จึงอาจขัดต่อ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ม.8(2) ที่บัญญัติว่า ต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน  และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ข้อ 45 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องไม่มีการกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม  

 

การกำหนดทีโออาร์ที่อาจมีลักษณะย้อนแย้งตามความพอใจของผู้มีอำนาจแต่ละยุค  แต่ละสมัยเยี่ยงนี้ อาจกลายเป็นปัญหาและนำไปสู่การร้องเรียน และฟ้องร้องเป็นคดีความกันมากมายไม่จบสิ้น เหมือนกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกที่มีการฟ้องร้องกันในศาลปกครองและศาลทุจริตในขณะนี้ 

 

กรณีดังกล่าว จึงเป็นข้อพิรุธที่ส่อไปในทางมิชอบ หรือ อาจทุจริตต่อหน้าที่ได้ ที่ก่อสร้างไปด้วยดีและได้เปิดใช้งานแล้ว แต่เมื่อ รฟม.มาเปิดประมูลสายสีส้มและสายสีม่วงใต้ กลับเปลี่ยนการใช้เกณฑ์ประมูลที่แตกต่างจากเดิม จนนำไปสู่การร้องเรียนและฟ้องร้องเป็นคดีความกันอยู่ในขณะนี้

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ รฟม.ได้เปิดการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ)  ซึ่งต้องก่อสร้างอุโมงค์ใต้พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ และอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เช่นเดียวกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย 

 

แต่ รฟม.ยังคงมีการกำหนดเงื่อนไข หรือเกณฑ์ของการประมูลใหม่ที่แตกต่างจากการประมูลรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย  ที่เคยประสบผลสำเร็จในการก่อสร้างไปด้วยดีและเปิดใช้งาน จึงไม่น่าจะมีเหตุผลหรือข้ออ้างใดมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประมูลที่เคยสำเร็จมาแล้ว  

 

กรณีดังกล่าวจึงมีข้อพิรุธที่ส่อไปในทางมิชอบ หรือ อาจทุจริตต่อหน้าที่ได้ จึงขอป.ป.ช. ไต่สวน และวินิจฉัยการกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์ของการประมูลรถไฟฟ้าดังกล่าวว่า  เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร  หากพบว่าเป็นการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ หรือ ล็อคสเป็กให้เอกชนรายใดๆ เป็นการเฉพาะ  และไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ให้เอาโทษขั้นสูงสุด