เปิดโผสินค้าส่งออกรับอานิสงส์บาทอ่อนรอบ 3 ปี

18 ส.ค. 2564 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2564 | 20:14 น.
1.0 k

เปิดโผกลุ่มสินค้าส่งออก รับอานิสงส์เงินบาทอ่อนค่ามากสุดรอบ 3 ปี สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ทั้งข้าว มัน ยาง น้ำตาล อาหาร สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ รับอานิสงส์ถ้วนหน้า อีกด้านเตรียมรับมือน้ำมัน เหล็กราคาพุ่ง

 

เงินบาทที่อ่อนค่าจากนักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นจากขาดความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย และการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด รวมถึงสหรัฐฯปรับลดเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อสูงขึ้น ส่งผลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า กดค่าเงินบาทอ่อนค่ามากสุดรอบ 3 ปี และอ่อนค่ามากสุดในภูมิภาค แตะที่ระดับ 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวลานี้นั้น

 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินบาทอ่อนค่ามากสุดรอบ 3 ปี ด้านบวก จะส่งผลดีต่อกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) แปรรูปส่งออกได้รับอานิสงส์ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าเกษตรได้แก่ ข้าว ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาล อาหาร ในกลุ่มสินค้าเหล่านี้ต้องฉกฉวยโอกาสในการเจรจา และเร่งรัดการส่งมอบสินค้าให้กับคู่ค้า หากเป็นไปได้ขอส่งมอบให้เร็วขึ้นเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลง

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกที่จะได้รับผลบวกจากเงินบาทในครั้งนี้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศมากกว่า 60% เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง   ขณะที่สินค้าที่ได้รับผลทางด้านลบ คือสินค้าที่ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำเข้ามาผลิตหรือแปรรูป หรือเพื่อใช้ในประเทศ จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการอ่อนค่าของเงินบาท เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันดิบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น แต่หากมีการนำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกก็จะได้อานิสงส์จากเงินบาทที่อ่อนค่าเช่นกัน เพราะจะแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น

 

 “ในภาพรวมทุกกลุ่มสินค้าเพื่อส่งออกได้รับผลดีจากเงินบาทที่อ่อนมากสุดในรอบ 3 ปี แต่จะมากน้อยขึ้นกับการใช้วัตถุดิบในประเทศหรือนำเข้า ส่วนข้อเสีย อาทิ น้ำมันดิบที่เป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ที่นำเข้ามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศจะมีราคาสูงขึ้น รวมถึงก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้ปั่นกระแสไฟฟ้า และสินค้าเหล็กที่ส่วนใหญ่นำเข้า จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น และจะขายในประเทศในราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ค่าระวางเรือจะใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเป็นเงินดอลลาร์เพื่อจ่ายค่าระวางเรือ”

 

นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า ผู้ส่งออกส่วนใหญ่มองทิศทางค่าเงินบาทจนถึงสิ้นปีนี้จะวิ่งอยู่ที่ประมาณ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้จากเงินบาทอ่อนค่าลงจะส่งผลให้คู่ค้าชะลอออร์เดอร์เพื่อรอสั่งซื้อในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าและราคาสินค้าไทยจะถูกลงอีกหรือไม่ มองว่าปัจจุบันสินค้ามีการผลิตแบบห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ต่างประเทศมีความต้องการวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากไทยเพื่อไปผลิตอยู่แล้ว เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางเพื่อไปผลิตเป็นยางล้อรถยนต์ เป็นต้น ประกอบกับเวลานี้ทุกประเทศจำเป็นต้องเร่งในการนำเข้าสินค้าเพื่อรองรับความต้องการในช่วงเทศกาลคริสต์มาสต์ และปีใหม่ คงไม่ชะลอคำสั่งซื้อ

 

 “ช่วงส่งออกจริงๆ เพียง 3 เดือน คือช่วงกันยายนถึงพฤศจิกายนที่จะมีคำสั่งซื้อที่สูงมาก เพื่อส่งมอบให้ทันก่อนสิ้นปี ในสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่านี้ผู้ส่งออกได้รับผลดีไม่จำเป็นต้องทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพราะยิ่งอ่อนยิ่งได้รับเงินมาก ไม่เหมือนช่วงเงินบาทแข็งค่าที่ต้องทำประกันความเสี่ยง”

 

ชูเกียรติ  โอภาสวงศ์

 

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึง เงินบาทที่อ่อนค่าส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวไทยในเดือนที่เหลือของปีนี้ ทำให้แข่งขันกับข้าวจากเวียดนามและอินเดียได้ เพราะส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกห่างกันเพียง 5-10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันเท่านั้น เชื่อว่าในเดือนที่เหลือของปีนี้ การส่งออกข้าวไทยน่าจะส่งออกได้เฉลี่ย 6 แสนตันต่อเดือน และทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมายที่ 6 ล้านตัน

 

เปิดโผสินค้าส่งออกรับอานิสงส์บาทอ่อนรอบ 3 ปี

 

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลดีต่อภาคการส่งออกโดยรวม เพราะขายสินค้าเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะแลกเป็นเงินบาทได้เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าจะถูกลงและมีผลต่อการสั่งซื้อมากขึ้น สินค้าส่งออกทุกตัวได้อานิสงส์ตรงนี้ แต่อาจจะเป็นเพียงระยะสั้น แต่ทั้งนี้ค่าเงินบาทเป็นเพียงตัวช่วยหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่กว่าคือเรื่องความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการแพร่ระบาดของโควิดที่กระทบกับเอกชน