ส่งออกการ์เมนต์ฟื้น คาดปีนี้โต 10% ตลาดในตายสนิทหลังล็อกดาวน์

22 ก.ค. 2564 | 18:03 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2564 | 01:20 น.

ส่งออกการ์เมนต์เริ่มโงหัว เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้น สั่งออร์เดอร์เพิ่ม คาดทั้งปีโต 10% ภาพรวมยังใช้กำลังผลิตแค่ 80% เลิกเย็บหน้ากากอนามัยขาย หันเร่งระบายสต๊อก ขณะตลาดในประเทศช่องทางจำหน่ายผ่านศูนย์ค้าปลีก-ส่ง โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ แพลทินัมเงียบ เจอล็อกดาวน์ซ้ำเดือดร้อนหนัก

 ปี 2563 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (การ์เมนต์) ของไทย หนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างงานและสร้างเงินเข้าประเทศในแต่ละปีเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลเศรษฐกิจและการค้าโลกหดตัว ทำให้ตัวเลขการส่งออกทำได้เพียง 2,126 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ( 6.58 หมื่นล้านบาท) ลดลง 17% เมื่อเทียบกับปี 2562 แต่วันนี้สถานการณ์เริ่มปรับตัวดีขึ้น

 

นายยุทธนา  ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 6 เดือนแรกปี 2564 ไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่มทุกประเภทขยายตัว 3-4% (ตัวเลข 5 เดือนแรกขยายตัว 2.85% โดยภาพตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป เอเชียขยายตัวดีขึ้น คาดการส่งออกทั้งปีนี้ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯจะขยายตัวได้ที่ 10% แต่ยังกลับไปได้ไม่เท่ากับในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด (ปี 2563 ไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่ม 2,125.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ในรูปเงินบาท 65,825 ล้านบาท) ลดลง -17.15% เมื่อเทียบกับปี 2562 (ส่งออกได้ 79,456 ล้านบาท)

 

ยุทธนา  ศิลป์สรรค์วิชช์

 

“การส่งออกการ์เมนต์ของไทยช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ยังติดลบ แต่หลังจากเดือน 3 คือมีนาคมเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันตัวเลขบวกต่อเนื่อง ผลจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ผู้บริโภคในตลาดหลักกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น การซื้อของทางออนไลน์ก็มีมากขึ้น ทำให้ผู้นำเข้ามีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม”

 

 สำหรับภาพรวมผู้ประกอบการการ์เมนต์เวลานี้ เริ่มกลับมาใช้กำลังผลิตได้ประมาณ 80% ส่วนใหญ่ยังทำงานกะเดียว ยังไม่ค่อยมีการทำงานล่วงเวลา (โอที) โดยกลับมาผลิตสินค้าหลักที่แต่ละบริษัทเคยดำเนินการอยู่ ส่วนการผลิตหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าที่แต่ละบริษัทได้หันไปผลิตช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิดในปีที่ผ่านมาเพื่อประคองธุรกิจ เวลานี้ส่วนใหญ่ไม่มีการผลิตหน้ากากอนามัยแล้ว แต่หันระบายสต๊อกแทน

 

 ขณะเดียวกันสถานการณ์โควิดในคลัสเตอร์โรงงานการ์เมนต์ยังมีผู้ติดเชื้อประปราย ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้เรียนรู้วิธีในการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้การผลิตสะดุด และกระทบกับการส่งมอบสินค้า โดยเวลานี้ยังมีการะบาดของโควิดในโรงงานการ์เมนต์บ้างโดยเฉพาะโรงงานในแถบชายแดนด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่อยู่ระหว่างเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว

 

ส่งออกการ์เมนต์ฟื้น คาดปีนี้โต 10% ตลาดในตายสนิทหลังล็อกดาวน์

 

นายยุทธนากล่าวอีกว่า ภาพรวมโรงงานผลิตเพื่อส่งออกสถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ที่น่าห่วงคือ โรงงานผลิตที่มุ่งเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก จากเวลานี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี คนขาดกำลังซื้อ และล่าสุดรัฐบาลยังมีล็อกดาวน์ และมีเคอร์ฟิว ใน 13 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการและร้านค้าส่ง-ค้าปลีกเสื้อผ้าในย่านการค้าสำคัญเช่น โบ๊เบ๊ ประตูน้ำ แพลทินัม รวมถึงในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ จากไม่มีคนเดิน เพราะกลัวติดเชื้อโควิดที่กำลังระบาดรุนแรง (ตลาดเสื้อผ้าในประเทศมีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท)

 

“โรงงานผลิตเสื้อผ้าที่เป็นรายเล็กรายย่อยที่มีหน้าร้าน ต่อให้เปิด ไม่มีล็อกดาวน์ก็เกือบตาย เพราะไม่ค่อยมีคนซื้อเท่าไหร่ ยิ่งพอมีล็อกดาวน์ยิ่งตายสนิท เงินเยียวยาที่ได้รับก็คงได้แค่ประทังเวลาเพียงเล็กน้อย ซึ่งทุกคนรอเวลาที่จะกลับมา ส่วนที่สายป่านไม่ยาวก็ล้มหายตายจากไป”

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,698 วันที่ 22 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564