ส.อ.ท.ผนึก สมอ. ดัน 7 อุตสาหกรรมนำร่องสู่มาตรฐานขั้นสูง SDOs เจาะตลาดโลก

27 เม.ย. 2564 | 11:45 น.
อัปเดตล่าสุด :27 เม.ย. 2564 | 18:48 น.

ส.อ.ท.ผนึกสมอ. ดัน 7 อุตสาหกรรมนำร่องสู่มาตรฐานขั้นสูง SDOs ยกระดับอุตสาหกรรมไทยเจาะตลาดโลก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการช่วยผลักดันให้ ส.อ.ท. ก้าวสู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs (STANDARDS DEVELOPING ORGANIZATIONS) เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับสินค้าไทย รวมถึงสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้

              “ส.อ.ท. มีนโยบายในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและในระดับสากล”

 อย่างไรก็ดี ต่อจากนี้ ส.อ.ท. ก็จะเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง และเป็นหน่วยงานที่สำคัญเพราะถือเป็นผู้ผลิตซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 1 ใน 3 ส่วนสำคัญอันได้แก่ ผู้ผลิต, ผู้ใช้และนักวิชาการ ส.อ.ท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการได้รับการรับรองเป็น SDOs ในครั้งนี้ จะทำให้ ส.อ.ท. เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการยกระดับมาตรฐานของประเทศไทยร่วมกับทาง สมอ. ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานในภาคอุตสาหกรรมครั้งสำคัญ

สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือในการยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อให้มีการพัฒนาผลิภัณฑ์ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้ สินค้ามีมาตรฐานซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพในการกำหนดมาตรฐานให้ได้มากยิ่งขึ้น จึงถือเป็นส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศด้วยเช่นกัน

นางพิมพ์ใจ  ลี้อิสสระนุกูล รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กล่าวว่า มี 7 กลุ่มอุตสาหกรรมนำร่อง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ,สิ่งทอ ,เซรามิก ,ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ,เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ,ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม โดยสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรมมีเป้าหมายที่จะผลักดัน ส.อ.ท. สู่องค์กรกำหนดมาตรฐานขั้นสูง SDOs ผ่านกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะสามารถทำมาตรฐานได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถกำหนดมาตรฐานได้ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์มากที่สุด

นอกจากนี้  ยังรวมไปถึงการที่จะมีองค์ความรู้ด้านมาตรฐานเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็จะเกิดประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า/ผู้บริโภค ,สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้เพราะต่อไป

“หากสินค้าต่างประเทศจะเข้ามาสู่ตลาดในประเทศไทยจะต้องขอมาตรฐานที่เรากำหนดขึ้นด้วย ซึ่งจะถือเป็นโอกาสและความได้เปรียบของผู้ประกอบการไทย ที่สำคัญยังเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการใช้สินค้ามีมาตรฐานซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย โดยมาตรฐานต่างๆ จะสำเร็จออกมาใช้ได้น่าจะอยู่ในช่วง 3-6 เดือนจากนี้ โดยเร่งในกลุ่มสินค้าสำคัญและอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ตู้แช่วัคซีน ซึ่งทุกกลุ่มมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะจับมือร่วมมือกันในการเป็น SDOs ในครั้งนี้”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :