ผวาโควิดลาม 2,000 โรงงาน ทุบห่วงโซ่ผลิต “อัมพาต”

08 ส.ค. 2564 | 17:18 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2564 | 00:38 น.
3.7 k

เอกชนห่วงโควิดลามหนักเข้าโรงงาน ผวาทะลุ 2,000 โรงทำห่วงโซ่การผลิต 4 กลุ่มอุตฯใหญ่เป็นอัมพาต จี้รัฐเร่งระดมฉีดวัคซีน ชี้ล็อกดาวน์แค่ชะลอการแพร่เชื้อ เผยแรงงาน 10 ล้านคนได้ฉีดวัคซีนแค่ 2% ม.หอการค้าฯ ฟันธงส่งออกไทยปีนี้โตได้แค่ 8% จับตาโควิดลามสหรัฐฯ-จีนรอบใหม่ตัวแปร

 

 การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประจำเดือนสิงหาคมได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 10-12%(จากเดิมคาด 8-10%) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงสุดในเวลานี้คือเชื้อโควิดที่ลามเข้าไปในคลัสเตอร์โรงงานในวงกว้าง ณ เวลานี้หากไม่สามารถควบคุมได้จะส่งผลต่อซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่อง และอาจทำให้การส่งออกสะดุดลงได้ ขณะที่ได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี)ไทยปี 2564 ลงเป็นติดลบที่ -1.5% ถึง 0.0% จากผลกระทบจากโควิดที่ระบาดรุนแรงในระลอกใหม่

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงาน ข้อมูลสะสมตั้งแต่ที่ 1 เม.ย.-4 ส.ค. 2564 มีโรงงานที่พบมีการระบาด 591 แห่ง ผู้ติดเชื้อ 42,608 คน ครอบคุลมพื้นที่ 51จังหวัด (เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 29 ก.ค.มีการระบาดใน 518 โรงงาน ผู้ติดเชื้อ 36,861 คน ใน 49 จังหวัด) โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหาร 111 โรง อิเล็กทรอนิกส์ 85 โรง เครื่องนุ่งห่ม 49 โรง โลหะ 49 โรง และพลาสติก 44 โรง

 

ผวาโควิดลาม 2,000 โรงงาน ทุบห่วงโซ่ผลิต “อัมพาต”

 

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับคาดการณ์ส่งออกของ กกร.จาก 8-10% เป็น 10-12% มองว่าเป็นไปได้ ภายใต้สมมุติฐานการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะต้องไม่รุนแรงมากกว่า 2,000 โรงงาน หากมากกว่านี้ จะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของประเทศ โดยเฉพาะใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ และอาหาร จากอุตสาหกรรมเหล่านี้ใช้แรงงานจำนวนมาก เวลานี้แรงงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนมีเพียง 2% ของแรงงาน ทั้งระบบที่มีกว่า 10 ล้านคน ถือว่าน้อยมาก สิ่งเดียวที่ภาคเอกชนต้องการมากที่สุดในขณะนี้คือการเร่งฉีดวัคซีน เพราะการล็อกดาวน์เป็นเพียงการชะลอเวลาการแพร่เชื้อเท่านั้น

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

 “อุตสาหกรรมที่มีการชะลอออเดอร์ในเวลานี้ เช่น อาหารทะเล สินค้าไก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วน สิ่งทอ เพราะโรงงานผลิตอยู่ในพื้นที่เสี่ยง แต่ทั้งนี้การชะลอออเดอร์เป็นเพียงระยะสั้น เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้นไตรมาส 3 ตัวเลขส่งออกน่าจะขยายตัวได้ 8% มูลค่าราว 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นในไตรมาส 4 น่าจะยังคงส่งออกได้ภายใต้สถานการณ์โควิดที่ไม่รุนแรงไปกว่านี้”

 

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

สอดคล้องกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยเสริมที่ทำให้ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ดี คือการที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มฉีดวัคซีนกันเกือบ 100% ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กำลังการผลิตกลับมา ความต้องการสินค้ามีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศต่าง ๆ จะยังคงมีการติดเชื้อซ้ำ แต่กิจกรรมด้านเศรษฐกิจไม่ได้ลด เพราะประเทศต้องเดินไปข้างหน้า

 

 “สินค้าที่ชะลอคำสั่งซื้อเวลานี้ เช่น กลุ่มอาหาร ทูน่า ยานยนต์ ชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากค่าระวางเรือที่ค่อนข้างสูงใกล้เคียงกับราคาสินค้า นำไปขายก็กำไรน้อย ส่วนกลุ่มที่ยังไปได้ดีมีคำสั่งซื้อต่อเนื่องเช่น อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้สด อาหารพร้อมปรุง เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น เครื่องต้มยำ ผงปรุงรส จากคนทำงานที่บ้านหรืออยู่บ้านมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสโตในไตรมาส3-4 เพราะความนิยมเพิ่มขึ้น”

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

ด้าน ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า คาดปีนี้ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 8% ทั้งนี้แม้ส่งออกไทยครึ่งปีแรกฟื้นตัวและขยายตัวได้ดีจากตลาดหลักได้แก่ สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรปฟื้นตัว อย่างไรก็ดีในครึ่งปีหลังมีปัจจัยเสี่ยงจากโควิดที่กลับมาระบาดอีก โดยเวลานี้คู่ค้าหลักคือสหรัฐฯ และจีนกำลังเผชิญกับการกลับมาของการแพร่ระบาดของโควิด เห็นได้จากสหรัฐฯกลับมาเข้มการใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้น รอลุ้นว่าจะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ ส่วนจีนพบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจึงกลายเป็นความเสี่ยงในตลาดส่งออกหลัก ดังนั้นจึงคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ประมาณ 8%