ใครติดเชื้อพร้อมจ่าย 1 ล้าน แนะ 3 ฝ่ายจับมือการันตีคู่ค้า สินค้าไทยปลอดโควิด

08 ส.ค. 2564 | 09:39 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2564 | 17:07 น.

ม.หอการค้าไทย แนะ 3 ฝ่าย “เจ้าของสินค้า-บริษัทประกัน-รัฐบาล”จับมือการันดีสินค้าไทยปลอดโควิด พร้อมจ่ายสูงสุด 1 ล้านบาท สร้างความมั่นใจคู่ค้า-ผู้บริโภคปลายทาง ฟันธงปีนี้ส่งออกไทยโตได้แค่ 8% จาก 3 ปัจจัยหลัก

 

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทยเมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 ที่ประชุมมีมติปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี (GDP) ปี 2564 เหลือ -1.5% ถึง 0.0% (จากการประชุมเดือน ก.ค.คาดขยายตัว 0.0% ถึง +1.5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังวิกฤติและเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ

 

ส่วนด้านการส่งออก กกร. คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10-12% (จากเดือน ก.ค.คาดขยายตัว 8-10%) จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแล supply chain ไม่ให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้าง โดยภาครัฐต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการจัดหาวัคซีนให้กลุ่มแรงงานอย่างทั่วถึง

 

ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  กลุ่มสินค้าที่คาดจะยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องในเดือนที่เหลือของปีนี้ ได้แก่ กลุ่มสินค้าสุขภาพ กลุ่มอาหาร ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ ส่วนข้อเสนอภาครัฐเพื่อทำให้ภาคส่งออกยังไปได้ดีและการแก้ไขปัญหาโควิดให้ได้ผลคือ 1.ลดจำนวนคนติดเชื้อ 2.การันตีสินค้า Free Covid (ปลอดโควิด) และ 3.ประกันความเสี่ยงในสินค้าให้กับ ผู้บริโภคในต่างประเทศ ถ้าติดจากสินค้านำเข้าจากไทย รับเงินทันที

 

ใครติดเชื้อพร้อมจ่าย 1 ล้าน แนะ 3 ฝ่ายจับมือการันตีคู่ค้า สินค้าไทยปลอดโควิด

 

ทั้งนี้ในข้อ 3. ใครจะเป็นคนจ่าย เสนอว่าทำเป็น 3 พันธมิตรคือ บริษัทเจ้าของสินค้า  บริษัทประกันภัย และ รัฐบาล (ก.พาณิชย์ ก.เกษตรฯ ก.อุตสาหกรรม และ ก.สาธารณสุข) โดยมีสัดส่วนความรับผิดชอบคือ บริษัทรับผิดชอบ 20% บริษัทประกัน 70% และหน่วยงานรัฐ 10%

 

ส่วนมูลค่าเงินที่จ่ายเท่าไรนั้น ขึ้นกับมูลค่าสินค้าที่ส่งในแต่ละครั้ง เช่น ถ้าไม่เกิน 100 ล้านบาท จ่ายไม่เกิน 5 แสนบาทต่อครั้งการขนส่ง ถ้าเกิน 100 ล้านบาท จ่าย 1 ล้านบาท โดยควรทำเป็นโมเดลต้นแบบจากต้นทางไปจนถึงปลายทางโดยร่วมกับผู้นำเข้าต่างประเทศ และบริษัทโลจิสติกส์

 

ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า จากที่ กกร.ปรับตัวเลขคาดการณ์ส่งออกปี 2564 เพิ่มเป็น  10-12% มีปัจจัยหลักจากตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรปฟื้นตัว อย่างไรก็ดีทางศูนย์ฯมองต่าง โดยคาดการส่งออกไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 8%  เนื่องจากครึ่งปีหลังหรือช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้มีความเสี่ยงจากโรคโควิดที่กลับมาระบาดอีกครั้ง

 

ใครติดเชื้อพร้อมจ่าย 1 ล้าน แนะ 3 ฝ่ายจับมือการันตีคู่ค้า สินค้าไทยปลอดโควิด

 

ปัจจัยเสี่ยงส่งออกไทยในเวลานี้คือ 1.โควิด Delta กลับมาระบาดใหม่กระทบกำลังซื้อ ทำให้มีการตรวจเข้มในประเทศปลายทาง 2.ขาดตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือยังทรงตัวในระดับสูงทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น และ 3.การปิดโรงงานผลิตของหลายโรงงานชั่วคราวเป็นระยะ อันเนื่องมาจากโควิดลามเข้าไปในโรงงาน ทำให้การผลิตสะดุด กระทบการส่งมอบสินค้า”

 

ทั้งนี้การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพื่อส่งมอบในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ภาพรวมจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องมากน้อยเพียงใดขึ้นกับการระบาดโควิดอย่างเดียว ซึ่งเวลานี้สถานการณ์น่าห่วง โดยตลาดหลักคือสหรัฐฯ ขณะนี้ได้กลับมาเข้มเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย และการป้องกันมากขึ้น รอลุ้นว่าจะมีการล็อกดาวน์หรือไม่ ส่วนจีนก็พบเชื้อกลายพันธุ์ระบาดเพิ่มขึ้น

 

ส่วนที่ กกร.ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวของจีดีพีลงจาก 0-1.5% เหลือ -1.5% ถึง 0% โดยระบุเศรษฐกิจไทยปีนี้เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกปีจากโควิดระบาดรอบใหม่ แม้ส่งออกไทยมีโอกาสขยายตัวได้เพิ่มก็ตาม เรื่องนี้ทางศูนย์มองสอดคล้องกัน เพราะภาคส่งออกอย่างเดียวคงไม่มีแรงฉุดเศรษฐกิจได้ทั้งหมด เพราะอีกด้านผลพวงจากโควิด และมีการล็อกดาวน์ใน 29 จังหวัด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และการบริโภคของประชาชนลดลงมาก การลงทุนในประเทศก็ลดลง คนตกงานเพิ่ม นักท่องเที่ยวต่างชาติก็มา หรือเข้ามาน้อยมาก

 

“เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นนอกจากภาคส่งออก เช่น ภาคการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ การลงทุนของภาครัฐและเอกชน ไม่มีตัวไหนฟื้น นอกจากการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างอื่นลดลงหมดมองเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2565 หากสถานการณ์โควิดในปีนี้คลี่คลายลงได้” ดร.อัทธ์ กล่าว