เอกชนขอวัคซีน ม.33-เร่งตรวจโควิดหลังดัชนี เชื่อมั่นอุตฯต่ำสุดรอบ 14 เดือน

09 ส.ค. 2564 | 12:32 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2564 | 19:31 น.

เอกชนร้องรัฐขอวัคซีน ม.33 พร้อมเร่งปูพรหมตรวจโควิด-19 หลังดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมต่ำสุดรอบ 14 เดือน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ต้องการให้ภาครัฐภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่แรงงาน ม.33 เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ในสถานประกอบการ รวมทั้งรักษาศักยภาพในการผลิตและภาคส่งออกของประเทศ  พร้อมเร่งการตรวจเชิงรุกในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้มเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการด้วยรูปแบบ Community Isolation ที่รับรองโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม
ทั้งนี้ เสนอให้ภาครัฐนำระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (Exposure Notification Express: ENX) ที่พัฒนาขึ้นโดย Google และ Apple มาใช้เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดลดการติดเชื้อและเสียชีวิต และให้ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs)ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 78.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 80.7 ในเดือนมิถุนายน 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำที่สุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยมีปัจจัยลบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลายและกระจายวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัด ออกมาตรการห้ามออกนอกเคหะสถานช่วงเวลา 21.00 - 04.00 น.ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.- 2 ส.ค. 2564  การจำกัดการเดินทางภายในประเทศ รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work From Home) มากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้  และยังส่งผลให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs และประชาชนมีรายได้ลดลง ขณะที่การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งทำให้กำลังการผลิตลดลง เนื่องจากแรงงานต้องกักตัวทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งโรงงานบางแห่งต้องปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาด นอกจากนี้ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมยังได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่น้อย

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีฯ คำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีทิศทางที่ดีขึ้นจากสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศขยายตัว ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการส่งออกในเดือนนี้

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนกรกฏาคม
นายสุพันธุ์ กล่าวต่อไปอีกว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,386 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 61.3% สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 50.1% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 39.5% 
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก 54.5% ,และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 40.8% 

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 89.3 จากระดับ 90.8 ในเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่คลี่คลายโดยเฉพาะการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้จะกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมองว่าหากภาครัฐใช้มาตรการล็อกดาวน์หลายเดือนจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกยังไม่แน่นอนเนื่องจากการระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์เดลตาในหลายประเทศอาจส่งผลต่อกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกรวมถึงการส่งออกของไทยในระยะต่อไป