กกร.แนะรัฐขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 65-70% เยียวยา-ฟื้นฟูเศรษฐกิจฝ่าโควิด

04 ส.ค. 2564 | 15:14 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2564 | 22:13 น.

กกร.แนะรัฐขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 65-70% เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิด-19 ชี้เร่งจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

นายพยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย  ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ,สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย) หรือ กกร. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอให้ภาครัฐต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่วิกฤตและถลำลึกกว่าที่คาดไว้มาก ภาคธุรกิจบอบช้ำและต้องใช้พลังมากในการฟื้นฟูผู้ประกอบการที่อ่อนล้า เสถียรภาพของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยง โดยภาคครัวเรือนเผชิญภาระหนี้ที่เพิ่มสูงกว่า 90% ต่อจีดีพี และต้องการการเยียวยาเพื่อชดเชยรายได้ที่หดหายไปในระยะนี้และฟื้นฟูเพื่อให้กลับมามีเสถียรภาพในระยะต่อไป ซึ่งเมื่อประเมินจากภาวะเศรษฐกิจที่ถลำลึกกว่าที่คาดไว้มาก ภาครัฐจำเป็นสร้างความเชื่อมั่นโดยเตรียมความพร้อมในเรื่องของความเพียงพอของงบประมาณ เพดานหนี้สาธารณะควรขยายให้มากกว่า 60% ต่อจีดีพี เป็น 65-70% เพื่อให้เหมาะสมกับภาระกิจในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน 
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำเป็นต้องพิจารณาแนวทางในการผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการกับสถาบันการเงินเพิ่มเติมภายใต้ข้อจำกัดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ระดับ 0% เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Covid-19) กกร. เสนอขอขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี ของการจัดเก็บภาษี ปีภาษี 2565 (ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1มกราคม2565 จนถึงวันที่31ธันวาคม2565)
เสนอภาครัฐเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 60% ขึ้นไป เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากขึ้น
ขอกรมสรรพากร ยกเว้นภาษี SMEs 3 ปี โดยจะต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบ E-Tax
รัฐบาลควรมีคำสั่งเดียว (Single Command) ในการสั่งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19

เสนอให้ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย
ให้ อย. เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสในการจัดหาวัคซีนมากยิ่งขึ้น
ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19
ให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ที่กำลังมีความต้องการสูง
นายผยง กล่าวต่อไปอีกว่าส สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ได้ออกมาตรการช่วยหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563  ทั้งมาตรการที่เป็นการช่วยเหลือเป็นการทั่วไป มาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้า และ มาตรการเสริมสภาพคล่อง  ล่าสุด ตระหนักถึงความเดือดร้อนของลูกหนี้และเห็นความจำเป็นเร่งด่วน ออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ 29 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ ระยะเวลายื่นคำขอตั้งแต่ 19    กรกฎาคม -15 สิงหาคม 2564 โดยจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้

มาตรการทางการเงินช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานข้อมูลความคืบหน้าการยื่นคำขอตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 ล่าสุด ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ธปท.รายงานตัวเลขคำขอสินเชื่อฟื้นฟู และได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว จำนวน 82,767 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 27,219 ราย วงเงินเฉลี่ยที่ได้รับการอนุมัติ 3.0 ล้านบาทต่อราย ขณะที่ความคืบหน้าตัวเลขโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนจำนวนทั้งสิ้น 1,060 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 18 ราย
"สมาคมธนาคารไทยร่วมกับ ธปท. ดำเนินการโครงการ Digital Supply chain finance เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก SME ให้เข้าถึงเงินทุน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในระยะกลาง โดยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาช่วยธนาคารในการจัดการบริหารความเสี่ยง เพื่อเป็นประโยชน์ใพิจารณาให้สินเชื่อได้มากขึ้น เงื่อนไขดีขึ้น  คาดว่า เฟส 1 จะเสร็จสิ้น เพื่อนำไปใช้งานในไตรมาส 4 โดยสมาคมมีแผนขอการสนับสนุนไปยังภาครัฐในการให้ประโยชน์กับธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน platform การพัฒนา e-invoicing platform เป็นส่วนสำคัญของ Thailand Smart Financial Infrastructure  เป็นกลไกในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงเงินทุนหมุนเวียนแบบ many- to- many ทั้งในช่วงที่ต้องประคับประคองกิจการ และในช่วงฟื้นฟูหลังสถานการณ์โควิด และสามารถเป็นฐานในการสร้างแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ (National Digital Trade Platform : NDTP) สำหรับการค้าระหว่างประเทศต่อไป"