ประเมินผลงาน 6 ปี กยท. "อดีต-อนาคต" ชาวสวนยาง คิดเห็นอย่างไร

15 ก.ค. 2564 | 16:49 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 00:25 น.

15 ก.ค. ครบรอบ 6 ปี กยท. เกษตรกร ประเมินผลงาน 6 ปี “สอบตก” หรือ “สอบผ่าน”  ชี้ชะตาอนาคตชาวสวนยาง กับ “พืชยางพารา” ชนิดเดียวที่ประเทศไทย เก็บเงินเซสส์ จากเกษตรกร บริหารยาง 4 แสนล้าน

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และนายกสมาคมสหพันธ์​ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการทำงานผมให้สอบตก ตั้งแต่เรื่องการลงทุนกับบริษัท 5 เสือยาง ปัจจุบันยังปิดบัญชีไม่ได้เลย ผิดระเบียบขัดกฎหมาย เพราะเงินเกินที่บอร์ดจะอนุมัติ จะต้องส่งเข้า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ถึงจะไปลงทุนกับบริษัทเอกชนได้ จะไปยกเว้นได้อย่างไร แล้วการขายยางในสต๊อก 1.04 แสนตัน ไปขายยางแค่ 37 บาท/กิโลกรัมให้บริษัท นอร์ทอีสต์ฯ   แต่มีหน้าบอกว่ายางจะขึ้นไปที่  70 บาท/กิโลกรัม แต่การกระทำตรงกันข้าม จะมาอ้างยางเสียรูปทรง ยางเน่า ยางอะไร ขายถูกกว่าเศษยาง คุณรักษาเสถียรภาพ หรือคุณทำให้ราคายางพังลง

 

มาตรา 4 ใน พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย นิยาม ““สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง” หมายความว่า สมาคม สหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แต่ไม่รวมถึงบริษัทจํากัด ห้างหุ้นส่วนจํากัดและห้างหุ้นส่วนสามัญที่มีเกษตรกรชาวสวนยางเป็นผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และได้ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

 

“ผมจะฟ้องศาลปกครอง ที่ กยท. ไม่ให้ขึ้นทะเบียนอ้างโน้นอ้างนี้  ผมก็โมโหมาก ด่าพวกนักกฎหมาย หาว่า หากใช้สมาคมอ้างว่าหลากหลาย มีอาชีพอื่นอยู่ในนี้ด้วย สหกรณ์ ก็เช่นเดียวกัน ก็หลากหลาย ก็มาดูวัตถุประสงค์หากประกอบธุรกิจยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ก็ต้องรับจดทะเบียน กยท.จะต้องกลั่นกรองวัตถุประสงค์ว่าตรงหรือไม่ แต่จะมาตะแบงอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่เข้าใจ  ตามมาตรา 4 ชัด ให้สมาคม สหกรณ์ และกลุ่มสหกรณ์ นั่นคือสถาบันเกษตรกร ผมเลยพ่วงวิสาหกิจชุมชุนเข้าไปด้วย หากไม่ทำอย่างนี้จะไปขยายผลิตภัณฑ์ยางได้อย่างไร”

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

โดยวัตถุประสงค์ต้องการให้เกษตรกรออกมาทำมากๆ  ก็เช่นเดียวกับ “เกษตรกรบัตรสีชมพู” ที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกันเข้าไม่ถึงเงินกู้ ความจริงควรจะให้มีสถานะเท่าเทียมกัน ผิดอยู่ที่รัฐบาล ที่ปล่อยให้กลุ่มนี้นำยางมาขาย แล้วคุณก็เก็บเงินเซสส์ แต่ถ้านำออกมาขาย ป่าไม้ไม่จับ ก็ อะลุ่มอล่วย กยท.ก็ควรจะอะลุ่มอล่วย ด้วยเพราะเสียเงินเซสส์เช่นเดียวกัน แล้วถ้ารวมตัวกันมาควรจะให้ขึ้น ยกเว้นอย่างเดียวที่ไม่ได้ก็คือขอทุนส่งเสริมปลูกแทนไม่ได้ ตาม พ.ร.บ. ในข้อนี้ยอมรับว่าขอไม่ได้ แต่สิทธิที่ควรจะได้ เพราะเค้าเสียเงินเซสส์ อย่างนี้เหลื่อมล้ำกัน

 

มาตรา 10 อนุ6 ให้จัดตั้งบริษัทมหาชน ก็ยังไม่ได้ทำ ใช้มืออาชีพบริหารหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ใช้หน่วยธุรกิจ หรือ บียู ทำ ไปร่วมลงทุน ยังเจ๊งเลย แล้วจะทำอะไรกิน ผมอยากจะถามกลับ ว่าโครงการรับเบอร์วัลเล่ย์ฯ ที่คิดจะทำ กยท.มีฝีมือหรือเปล่าจะมาบริหาร นำทรัพย์สินไปละลายแม่น้ำ ในกฎหมายก็เขียนชัดว่าหากจะนำทรัพย์สินออกไปจะต้องตรวจสอบ จะเอาทรัพย์สินไปขายกิน เรียกว่าขายของเก่ากิน ไม่ได้คิดจะหาเพิ่มเลย ผมไม่เกรงใจแล้วว่า ว่าให้แสบๆคันๆ ไปเลย

 

นายอุทัย กล่าวว่า วันนี้ผ่านมา 6 ปี ไม่ได้อะไรเลย กยท.มัวแต่เอานักกฎหมายมาตีความวกวนเหมือนพายเรือในอ่าง แทนที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับเกษตรกรกับเอื้อประโยชน์บางสิ่งบางอย่างแอบแฝงไปหมด เงินมาตรา 49 อนุ2 ถึง อนุ6 กยท.กลับนำไปเบิกใช้เป็นเบี้ยเลี้ยง แล้วกลับมาเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 9% มากเกินไป ผมว่าน่าตกใจ เพราะเงินก้อนนี้เป็นเงินที่เก็บจากเกษตรกรก็ต้องมาช่วยเกษตรกร เพราะเอาคิดดอกเบี้ยเงินกู้แค่ 1% ก็เหลือเฟือแล้ว ทั้งที่ความจริงไม่ควรจะเอาเลยด้วยซ้ำไป ให้ช่วยตัวเองได้ก่อน สิ่งที่จะได้ต้องมาแก้กฎหมายลูก ระเบียบที่ทำขัดไว้ แทนที่จะสร้างให้เข้มแข็งก่อนเพื่อให้พึ่งพาตนเองได้ ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เงินจะไหลคืนสู่เกษตรกร

 

“ยาพารา” เป็นพืชเดียวที่เสียภาษี (เซสส์) คือ อย่างอนุ1 เห็นชัดเลย ว่า นำเงินไปบริหารจ้างพนักงาน ทั้งที่จริงเสียเงินรายได้ ภาษี ทำไม ข้าว (กรมการข้าว) อ้อย รัฐบาลจ่ายงบประมาณให้ แต่ยางพารา รัฐบาลไม่ได้เหลียวแลเลย นี่คือความเสียเปรียบของเกษตรกร ที่ต้องเสียเงิน 10% มาจ้างฝ่ายบริหาร นี่เท่ากับฝ่ายบริหารก็คือลูกจ้างของเกษตรกร ก็น่าจะเอื้อประโยชร์ให้กับเกษตรกร แต่กลับมองข้ามเกษตรกร ไปหมด


 

ขณะที่ นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับ​ประเทศ การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเมินผลงานยาก จะประเมินไม่ดีก็ไม่ใช่ เพราะเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรี เปลี่ยนผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทยหลายคน แล้วการปรับเปลี่ยนบุคลการ ระเบียบปฏิบัติก็เพิ่งเริ่มต้น รักษาการก็ต้องมาออกระเบียบผ่าน ครม. ข้อบังคับต่างๆ เขียนมาภายใต้ การปฏิบัติ สกย.เก่า เวลามาปฏิบัติบางตัวก็ตันโดยจำกัดระเบียบข้อบังคับต่างๆ ก็ได้มีการปรับมาเรื่อยๆ จนถึงบัดนี้

 

ธีระชัย แสนแก้ว

 

ย้อนไปตั้งแต่รวมองค์กร 3 หน่วยงาน สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)กรมวิชาการเกษตร และองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เกลี่ยบุคลากร ปรับระเบียบข้อบังคับ ซึ่งจะให้ กยท.มีผลงานทันทีเลยก็ไม่มีเลยใน 3 ปีแรก ก็เริ่มจะมามีเนื้อมีหนัง หรือพอที่จะจับต้องได้ก็ในช่วงนี้ จากแม่น้ำ 3 สาย มารวมกัน เพื่อที่จะเป็นสายเดียวกัน แต่ก็ยังไม่สายเดียวกันนัก แต่ก็ยังดีกว่าเดิมเมื่อย้อนไปกลับช่วง 3 ปีแรก ก็คิดว่าในยุคนี้แหละที่จะเริ่มเห็นแล้ว แล้วหวังว่าจะอยู่ตลอดรอดฝั่ง

 

ในส่วนรัฐบาลปัจจุบัน ก็จะมีเรื่องประกันรายได้เกษตรกชาวสวนยาง ในเรื่อง ประกันรายได้เกษตรกร ประกันราคายาง  3 ชนิด คือ

1.ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม

2.น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม

3.ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม

 

โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน

 

"ชาวบ้านก็ยังไปได้ ส่วนในเรื่องที่จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข้ง ก็เห็นพยายามกันอยู่ อย่างบัตรสีชมพู ไม่เคยได้อะไรสักอย่างเลย เริ่มที่จะกลืนมาเป็นบัตรสีเขียวจะทำให้คนที่ปลูกยางในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ หรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะพื้นที่หวงห้าม ครอบครองมานานกว่า 60 ปี ได้รับเงินจากประกันรายได้ ถือว่าเริ่มดีขึ้น ตามลำดับ"

 

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ต่อมา ในช่วงผู้ว่าฯ "ธีธัช สุขสะอาด" ก็มีปัญหา ต้องไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี จนหมดวาระไปๆไม่มีประโยชน์อะไร ทำงานพลาดไป ซ้ำซ้อนกับการจ่ายเงินเดือนรักษาการฯ แต่คราวนี้ผมมีความหวังอยู่ที่ “ณกรณ์ ตรรกวิรพัท” ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เพราะมาจากภาคเอกชน แล้วก็เคยเป็นบอร์ด สกย. เก่า การตัดสินใจน่าจะดีและรวดเร็วกว่าภาคราชการ


 

ด้านนายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ และอดีตนายกสมาคมสมาพันธ์​ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการทำงานของ กยท. ผมว่าพอใช้ได้ คณะกรรมการชุดใหม่ (บอร์ดชุดใหม่) แนวโน้มในการทำงานในหลายด้านเท่าที่สังเกต ไม่ว่าในเรื่องของการชดเชยรายได้ ผลักดันในเรื่องที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ผลประโยชน์ที่จะได้ปรับจากบัตรสีชมพู เป็นสีเขียว ก็มองว่าอยู่ในเกณฑ์มีความตั้งใจในการทำงานในระดับล่าง

 

บุญส่ง นับทอง

 

ส่วนเรื่องขายยางในสต๊อก ราคาไม่ได้อยู่ในระดับเป็นที่น่าพอใจ แต่ว่าก็เป็นไปตามคุณภาพของยางที่เก็บไว้ 9 ปี จะให้ได้ราคาแบบยางใหม่ก็ยาก แต่ก็ดีอย่างหนึ่ง ขว้างงูพ้นคอแล้ว สต็อกที่ค้ำคออยู่ตลอดเวลา 9 ปี วันนี้ถูกถ่ายออกไปทำให้สต๊อกเป็นศูนย์ จะมาอ้างยางในสต๊อกไม่มีแล้วทำให้ราคายางไม่ขึ้น อ้างไม่ได้แล้ว ก็เป็นข้อดี

 

นายบุญส่ง  กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้ กยท.เน้น ก็คือสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรทำสวนยางแบบผสมผสาน ตัวนี้เน้นเลยที่เราคุยกันไว้ว่า ถ้าเราผลักดันให้เกษตรกรทำเกษตรผสมผสานได้ถึง 30% ของพื้นที่ยางในประเทศไทยวันนั้นเราจะควบคุมกลไกราคาโลกได้ เพราะหากทำได้ จะทำให้ตัวซัพพลายหายไป 5 แสนถึง 1 ล้านตัน ผมถามว่าถ้าทำได้อย่างนั้นโดยที่เกษตรกรไม่เดือดร้อนเพราะมีเรื่องสวนผสมผสานเป็นค่าใช้จ่ายอยู่ในพื้นที่แล้วไม่เดือดร้อน หากหยุดกรีด 3 เดือน ราคาจะต้องปรับขึ้นรัฐต้องส่งเสริม

 

แต่ประเด็นมีอยู่ว่าที่เช็กหลังสุดยังไม่ได้10% ยังได้น้อยอยุู่ เพราะไม่มีแรงจูงใจ ต้องสร้างโดยเพิ่มเม็ดเงินให้ เสนอไปที่ กนย. ก็ขอให้เพิ่มเม็ดเงิน ไร่ละ 1 หมื่นบาทต่อไร่  (1.6 หมื่นบาท/ไร่) รวมเป็น 2.6 หมื่นบาทต่อไร่ เชื่อว่าเกษตรกรเห็นเงินตัวนี้จะมีความสนใจแล้วเริ่มที่จะไปทำตัวโครงการนี้จะช่วยทำให้เพิ่มพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ตรงนี้จะต้องใช้งบจากรัฐบาล

 

“เนื่องจากงบประมาณของ กยท.มีไม่เพียงพอ ซึ่งไม่ได้ทำทีเดียว เสนอให้ตั้งงบผูกพันไว้ ขอปีละ 1 แสนไร่ ตั้งโครงการไว้ประมาณ 5 ปี ก็ 5 แสนไร่ ขณะเดียวกันภาคในส่วนของ กยท.สร้างแรงจูงใจจากการส่งเสริมของ กยท.เข้าไปเองด้วย เพราะใน กยท.มี 49(3) ที่จะเข้าไปส่งเสริมในส่วนของงบประมาณที่มีอยู่ ปีหนึ่งก็ประมาณ กว่า 300 ล้าน ขอให้ไปสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร อยากจะเรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาสนับสนุนตัวนี้จะยั่งยืน”

 

ด้าน กยท. ครบรอบ 6 ปี ก้าวไกลยุคดิจิทัล ร่วมชมนิทรรศการออนไลน์หน้าเว็บไซด์ กยท.


วันนี้ (15 ก.ค. 2564) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ครบรอบสถาปนา 6 ปี เพื่อความเป็นสิริมงคลในวันครบรอบสถาปนา กยท. 6 ปี นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย พร้อมรองผู้ว่าการด้านบริหาร รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ และรองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ ร่วมสักการะศาลพระภูมิและรูปปั้นจำลององค์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ณ สำนักงานใหญ่ กยท. บางขุนนนท์ กรุงเทพฯ

 

ในปีนี้ กยท. จัดกิจกรรมในรูปแบบนิทรรศการออนไลน์ บนหน้าเว็บไซด์ กยท. www.raot.co.th นำเสนอภายใต้คอนเซ็ป “ครบรอบ 6 ปี กยท. ก้าวไกลยุคดิจิทัล" เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินและทวีความรุนแรงจนเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจึงงดจัดกิจกรรมที่จะเกิดการรวมตัวกันตามประกาศ ของ ศบค. อย่างไรก็ตามขอเชิญชวนทุกท่าน เข้ารับชมนิทรรศการออนไลน์และแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 6 ปี กยท. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป