กยท. หั่นโค่นยาง เหลือ 2 แสนไร่ สะเทือนหนักตลาดไม้ยาง 6 หมื่นล้าน

12 ก.ค. 2564 | 19:53 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2564 | 03:06 น.
3.7 k

นายก สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย โอด กยท.หั่นโค่นยาง เหลือ 2 แสนไร่ต่อปี สะเทือนหนักตลาดไม้ยาง 6 หมื่นล้าน ผวาต้นทุนพุ่ง แบกภาระขาดทุนไม่ไหว ขณะที่ ตลาดจีน สารพัดเหตุส่งออกสะดุด

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีนโยบายสั่งให้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ดำเนินการลดพื้นที่ยางพาราจาก 2 แสนไร่ เป็น 4 แสนไร่ต่อปี โดยจ่ายชดเชยในอัตราไร่ละ 1.6 หมื่นบาท ตั้งแต่ปี 2558 ล่าสุด กยท.แบกรับภาระ ไม่ไหวทำให้มีนโยบายปี 2564 ในการปรับลดพื้นที่ยางพารากลับไปที่ 2 แสนไร่ต่อปีตามเดิม จากนโยบาย ล่าสุดมีความคืบหน้าการอนุมัติและผลการโค่นยางตามลำดับ (กราฟิกประกอบ) ขณะที่ผลพวงจากการโค่นยางได้ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

 

 

กยท. หั่นโค่นยาง เหลือ 2 แสนไร่  สะเทือนหนักตลาดไม้ยาง 6 หมื่นล้าน

 

นายนิกร ลิขิตหวังพาณิชย์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย และกรรมการบริหาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด ชูศักดิ์ภาคใต้พาราวู๊ด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  เวลานี้ธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพารา มูลค่าตลาดกว่า 6 หมื่นล้านบาท ( 4-5 ปีก่อนหน้ามูลค่าตลาดประมาณ 1 แสนล้านบาท) กำลังอยู่ในสภาวะย่ำแย่ จากผลกระทบสถานการณ์โควิด รวมถึงตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักไม้ยางพาราไทย มีความเข้มงวดในการนำเข้ามากขึ้น โดยอ้างหลายเหตุผล เช่น ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การคุมเข้มการนำเข้าจากผลกระทบโควิด และมีปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐฯ เป็นต้น

 

“นอกจากตลาดต่างประเทศที่มีปัญหาแล้ว เวลานี้ยังได้รับผลกระทบจากจากนโยบาย ของ กยท.อีก จากเดิมมีนโยบายให้โค่นต้นยางปีละ 4 แสนไร่  ล่าสุดมีนโยบายโค่นยางเหลือแค่ 2 แสนไร่ ทำให้ไม้มีไม่เพียงพอในการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่ง 2 แสนไร่นี้ก็ให้เกษตรกรมาลงทะเบียนก่อน แล้วค่อยให้เงินภายหลัง ชาวบ้านก็ไม่พอใจเพราะหากโค่นก่อนแล้วกว่าจะได้เงินก็เดือนตุลาคมในปีงบประมาณใหม่ ชาวบ้านก็ไม่ยอมโค่น ซึ่งการอนุญาตให้เจ้าของสวนโค่นต้นยางก่อนได้รับอนุมัติจึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร”

 

นายนิกร  กล่าวว่า  ขณะนี้ไม้ยางมีราคาแพงขึ้นจากของมีน้อย อุตสาหกรรมขาดทุนและกระทบหนัก แต่ก็จำเป็นต้องซื้อเพื่อรักษาคู่ค้าในระยะยาว นอกจากนี้มีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับขึ้นถึง 5 เท่าตัวจากปีที่ผ่านมา ค่าจ้างแรงงานก็ปรับขึ้น จากแรงงานต่างด้าวยังเข้าไทยไม่ได้จากผลพวงโรคโควิด

กยท. หั่นโค่นยาง เหลือ 2 แสนไร่  สะเทือนหนักตลาดไม้ยาง 6 หมื่นล้าน

“ไม้ประจำชาติ” ถ้านึกถึงไม้สน เป็นไม้ของ “สวีเดน”  ความจริงไทยต้อประชาสัมพันธ์ให้ไม้ยางพารา เป็นไม้ประจำชาติไทย เพราะไทยเป็นประเทศที่มีไม้ยางมากที่สุดในโลก โดยปัจจุบันมีสวนยางทั่วประเทศกว่า 23 ล้านไร่ และอยู่นอกระบบอีก 7 ล้านไร่ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ล้านไร่ ดังนั้นการที่จะดันราคายางให้ราคาเพิ่มขึ้นก็จำเป็นต้องโค่นยาง แต่พอมาปรับนโยบายสวนกระแสจึงกระทบกับเกษตรกร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับไม้ยางพารา เฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไม้ยาง และเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยาง

 

ขณะที่สำคัญหากไม้ยางพาราไทย มีมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) หรือมาตรฐานขององค์กรพิทักษ์ป่าไม้ ที่เข้ามาดูแลจัดการ​ส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างถูกต้องทั่วโลก ไทยจะสามารถสามารถขายเฟอร์นิเจอร์ไม้ได้ทั้งโลก ยกตัวอย่าง การขายไม้ยางทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มไร่ละ 10,000 บาท หากคิด 23 ล้านไร่ ก็เป็นเงิน 2.3 แสนล้านบาท

กยท. หั่นโค่นยาง เหลือ 2 แสนไร่  สะเทือนหนักตลาดไม้ยาง 6 หมื่นล้าน

 

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท.ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐในการโค่นยาง 4 แสนไร่ ในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมารวมแล้ว 2.8 ล้านไร่ ซึ่งมีผลทำให้รอบการใช้เงินเร็วขึ้น และจ่ายเงินในแต่ละปีมากขึ้น ดังนั้นทางบอร์ด กยท.จึงมีมติ ให้ขอเงินส่วนต่างนี้จากรัฐบาลที่ กยท.จ่ายล่วงหน้าไป 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้เสนอไปแล้ว ยังรอรัฐบาลจะมีความเห็นอย่างไร

 

“อุตสาหกรรมไม้ยางพารา หากจะทำให้เติบโตและพ้นวิกฤติจากปัญหาเดิม ไทยจะต้องเข้าสู่มาตรฐาน Forest Stewardship Council  (FSC) อย่างเต็มรูปแบบ ตามที่สมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย ได้เสนอแนะ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ หากคิดถึงไม้ยางพารา ก็ให้นึกถึงประเทศไทย ก็อาจจะทำให้อุตสาหกรรมไม้ทั้งระบบอาจคืนกลับสู่เม็ดเงินแสนล้านอย่างในอดีตก็เป็นได้”

 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,695 วันที่ 11 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564