ชงของบ2พันล้านต่อปี ลดผลิตยาง8ล้านไร่

18 ก.พ. 2563 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2563 | 18:26 น.
9.4 k

รัฐตีปี๊บโค่นยาง 8 ล้านไร่ เสกยางหาย 2 ล้านตันหนีราคาตกตํ่า คณะทำงานชงของบกลางเพิ่มแรงจูงใจอีก 1 หมื่นบาท เป็น 2.6 หมื่นบาทต่อไร่


ปัญหาราคายางพาราตกตํ่าต่อเนื่องเป็นระยะเวลาร่วม 8 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการทำสวนยางอย่างยั่งยืน เพื่อดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนวทางในการบริหารจัดการยางพาราต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ต่อไป มีนายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นประธานคณะทำงาน

นายบุญส่ง นับทอง คณะทำงานศึกษาการทำสวนยางอย่างยั่งยืน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางคณะทำงานย่อยได้มีการกำหนดการประชุม 3 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 7 , 11 และ 18 กุมภาพันธ์ 2563 และครั้งสุดท้ายจะประชุมกับคณะทำงานชุดใหญ่ที่มีรักษาการผู้ว่าการ กยท. เป็นประธานในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 โดยจะนำผลสรุปของคณะทำงานทั้งหมดส่งให้นายกรัฐมนตรี คาดประมาณต้นเดือนมีนาคมนี้

“ในคณะทำงานย่อยจะมี 3 คณะ ได้แก่ 1.คณะทำงานย่อยศึกษาแนวทางการรับรองมาตรฐานการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน 2.คณะทำงานย่อยเพื่อศึกษาและขับเคลื่อนการทำสวนยางอย่างยั่งยืน 3.คณะทำงานย่อยศึกษาการใช้สวนยางยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์”

โครงการประกันรายได้ยางพารา เป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐที่ออกมาช่วยเหลือชาวสวนยางได้ระดับหนึ่ง ซึ่งต่อไปจะทำให้สวนยางยั่งยืน จากเดิมปลูกยางประมาณ 70-80 ต้นต่อไร่ จะให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งคือ 35-40 ต้น คณะทำงานจะของบกลางจากรัฐบาลมาเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้โค่นยางเพิ่มไร่ละ 1 หมื่นบาท จากเดิม กยท.ให้ไร่ละ 1.6 หมื่นบาท คาดว่าจะเสนอรัฐบาลของบปีละ 2,000 ล้านบาท เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดพื้นที่ 30% ของสวนยางทั้งประเทศที่มีอยู่ประมาณ 28 ล้านไร่ หากปรับตามคำนวณลด 8 ล้านไร่ คาดว่าจะทำให้ผลผลิตหายไป 2 ล้านตัน ทำให้ราคายางดีขึ้น

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3549 วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2563