ซีรีย์...หุ้นดีหุ้นดังปี 67 (3) Z.com ปิดตำนานมาร์จิ้น

18 ธ.ค. 2567 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2567 | 11:12 น.
533

ซีรีย์...หุ้นดีหุ้นดังปี 67 (3) Z.com ปิดตำนานมาร์จิ้น : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

*** หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้จนถึงขั้นที่ทำให้นักลงทุนหลายคนหมดความเชื่อมั่น ลากยาวไปถึงขั้นหันหลังให้กับตลาดหุ้นไทยในปีนี้ ก็คือ เรื่องหุ้นถูกบังคับขาย (Force Sell) หลังมีการนำหุ้นไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้นกับโบรกเกอร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ บริษัท หลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Z.com โบรกเกอร์ออนไลน์ ซึ่งเน้นธุรกรรมปล่อยมาร์จิ้นเป็นหลักมีวงเงินให้บริการมาร์จิ้นหลายหมื่นล้านบาท ส่งผลให้หุ้นอย่าง SABUY SBNEXT MORE OTO BYD รวมไปถึง YGG กลายเป็นหุ้น “ตลาดวาย” จนหลายตัวต้องเปลี่ยนชื่อ หรือแทบจะหายหน้าไปจากตลาดเพราะไม่มีใครอยากยุ่ง

 

แม้ว่าการเน้นธุรกรรมปล่อยมาร์จิ้น เป็นหนึ่งในเครื่องมือธุรกรรมที่ถูกกฎหมาย และถือเป็นการปล่อยกู้ทางอ้อมให้กับเจ้าของหุ้น แต่ขณะเดียวกัน หากผู้บริหารของโบรคเกอร์ผู้ให้มาร์จิ้นบางราย คิดพิสดาร ถึงกับใช้ธุรกรรมการปล่อยมาร์จิ้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ทุนนักปั่นหุ้นบางราย เข่น หุ้น More อย่างที่เป็นข่าว

หากจำได้ ก่อนหน้านี้วีรกรรมโฉดของแก๊งค์ "เฮีย" ที่ลงมือปล้นโบรกเกอร์หลักหลายพันล้าน โดยอาศัยมือลูกน้อง (ปิงปอง) ก็ยังมีโบรกเกอร์อย่าง Z.com เพียงแค่จะเป็นผู้สนับสนุนแหล่งเงินรายใหญ่ หรือ แค่ทำธุรกรรมปรกติกันแน่

โดยตามหลักปฏิบัติ… การปั่นราคาหุ้นมักจะเริ่มขึ้นหลังจากที่เจ้าของ (จ้าว) ได้นำหุ้นไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น เพื่อนำเงินที่ได้ไปดันราคาขึ้นไปในลักษณะของการทำ Conner ก่อนที่หุ้นเหล่านั้น จะเกิดอาการ “ฝีแตก” ซึ่งอาจมาจากจ้าวได้เงินจนพอใจ หรือ อาจมาจากการที่หุ้นเหล่านั้น “หมดโปรฯ” หรือมีปัจจัยอื่นที่ทำให้หุ้นเหล่านั้น หมดความน่าเชื่อถือ จนถูกขายทิ้งทุกราคา สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุบแบบไม่ทันตั้งตัว ประมาณว่าได้แต่มองตาปริบๆ อยากจะออกก็ออกไม่ได้ เพราะมีแต่แรงขาย แต่กลับไม่มีแรงซื้อกันเลยทีเดียว!!!

ล่าสุด Z.com ได้ตัดสินใจยุติการให้บริการในส่วนของบัญชีมาร์จิ้นทั้งหมดในวันที่ 20 ธันวาคม 2567 หลังจากที่ต้องทนรับแรงกกดดันจากภาวะการขาดทุนหลายต่อหลายครั้ง จากการเดินหน้าในแนวทางของการเน้นธุรกรรมปล่อยมาร์จิ้นเป็นหลัก รวมไปถึงการเน้นธุรกรรมปล่อยมาร์จิ้นเป็นหลัก ยังถือเป็นการ “ท้าทายจริยธรรม” ในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย

แน่นอนว่า การยุติการให้บริการบัญชีมาร์จิ้นทั้งหมดของ z.com อาจจะเป็นผลดีในระยะยาว เนื่องจากอาจช่วยลดการถูกบังคับขาย (Force Sell) จนเกิดภาวะหุ้นหลายตัวถูกทุบจนราคาหุ้นที่ปรับลงติดกัน 5-7 ฟลอร์ เพื่อหวังเก็บเงินต้นคืนจากราคาหุ้นอาจลดน้อยลงไป แต่ขณะเดียวกันเจ๊เมาธ์ก็มองว่าในรอบสั้นการยุติการให้บริการบัญชีมาร์จิ้น ก็อาจจะทำให้เกิด Aftershock ตามมา...

Aftershock ประการแรก ที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คงจะไม่หนีไปจากผลการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากมีแนวโน้มว่า ผลการดำเนินงานอาจปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญเพราะรายได้ของ z.com มาจากการให้บริการบัญชีมาร์จิ้นเป็นหลัก แม้ว่า GMO Internet Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่จะยืนยันว่ายินดีที่จะเข้ามาดูแลก็ตามที

Aftershock เรื่องที่สอง เป็นการขาดทุนสะสมที่เกิดขึ้นหลังจากต้องแบกรับเอาหุ้นของลูกค้าหลายราย ที่นำมาวางค้ำบัญชีมาร์จิ้นแต่ทาง z.com ยังไม่ได้ตัดขายออกมาจนเสียหายหลายร้อยล้านบาท

รวมถึงเกิดการฟ้องร้องจนเป็นคดีกับผู้กู้อีกเพียบ ส่งผลให้ในปี 2565 Z.com ประกาศผลประกอบการขาดทุนกว่า 518 ล้านบาท และขาดทุน 726 ล้านบาท ในปี 2566 ซึ่งยังไม่นับรวมเอาผลการดำเนินงานในปี 2567 ที่คาดว่ามีแนวโน้นมจะขาดทุนได้อีก

Aftershock เรื่องที่สาม ที่จะเกิดขึ้นก็คือ ปัญหาจากการยุติบริการบัญชีมาร์จิ้น สำหรับหลายบริษัทที่เอาหุ้นไปวางไว้กับ z.com อาจจะทำให้หลายบริษัทเหล่านั้น เกิดการขาดสภาพคล่อง จนไม่สามารถดูแลราคาหุ้นได้

โดยสิ่งที่ตามมาต่อจากนี้ หลังจากวันที่ 20 ธันวาคม อาจจะมีหุ้นอีกหลายตัวถูกเทขาย จนอาจถึงขั้นร่วงลงติดฟลอร์ (Floor) อีกหลายตัวเพราะไม่มีกระแสเงินสดรองรับก็เป็นได้เช่นกัน

ท้ายที่สุด... ถือเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ของผู้บริหาร Z.com ต่อไป แต่หากนักลงทุนผู้เสียหาย หรือท่านใดยังคงคาใจก็ควรรักษาสิทธิ์ยื่นเรื่องให้สอบทั้งผู้บริหาร และ กรรมการบริษัทต่อ DSI และ ปปง. เพื่อให้สิ้นสงสัย เพราะถ้าหากผู้คุมกติกาของตลาดหุ้นไทยยังไม่ชัดเจนว่า จะควบคุมอย่างไร เหตุการแบบนี้ก็คงจะเกิดขึ้นได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนนักลงทุนต้องออกมาปกป้องตัวเอง และขอให้จบไปพร้อมกับการเลิกบริการนี้ของ z.com ได้แล้วค่ะ