การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

18 ธ.ค. 2567 | 11:18 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2567 | 11:28 น.

การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... ดร.ทยา ดำรงฤทธิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4054

ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจและมนุษย์อย่างรวดเร็วในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา โดยในช่วงระหว่างปี 1990 และ 2023 รายได้ต่อหัวซึ่งวัดด้วย GDP per capita ของภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า และมีส่วนสำคัญผลักดันการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก สัดส่วนของผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ ที่อยู่ในความยากจนลดลงจากมากกว่า 25% เหลือน้อยกว่า 5%  ในขณะที่อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ

คำถามแรก คือ ปัจจัยอะไรเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิก แม้ว่าโดยทั่วไปจะคิดถึงการเปลี่ยนแปลงทางประชากร การลงทุนที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตของผลิตภาพเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนานี้

 

แต่กุญแจหลักอีกอย่างหนึ่งในการพัฒนาของภูมิภาคนี้ ที่มักจะถูกมองข้ามและไม่ได้พูดถึง คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง (structural transformation) ของแรงงาน ซึ่งหมายถึงการที่แรงงานส่วนใหญ่ย้ายออกจากภาคเกษตรกรรม ที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำ ไปยังภาคอื่นที่มีผลิตภาพสูงกว่า 

ส่งผลให้เศรษฐกิจสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโต ของผลิตภาพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวเข้าสู่ภาคการผลิต (manufacturing sector) ได้รับการสนับสนุนจากการบูรณาการการค้าระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว เป็นลักษณะเด่นของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภูมิภาคนี้  

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาหลายอย่าง ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ความก้าวหน้าและการพัฒนาอย่างรวดเร็วนี้ จะสามารถคงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวหรือไม่

จากสถานการณ์ที่เห็นในปัจจุบัน เช่น การเติบโตของแรงงาน คาดว่าจะชะลอตัวลงทั่วภูมิภาค และการผลิตภาพและการลงทุนได้ชะลอตัวลงในหลายเศรษฐกิจ ตั้งแต่วิกฤตการเงินโลก การเติบโตของการค้าสินค้า ได้หยุดชะงักหลังจากวิกฤตการเงินโลก และการแยกตัวทางเศรษฐกิจ อาจทำให้การบูรณาการการค้าและห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกของภูมิภาคกลายเป็นความเสี่ยง

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากอดีต จากการเป็นโรงงานผลิตที่สำคัญของโลก โดยมากกว่าครึ่งของผลผลิตโลกมาจากโรงงานในภูมิภาคนี้ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความเติบโตที่ยั่งยืน คำตอบสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ภาคบริการที่มีผลิตภาพสูงขึ้นนั้น เป็นปัจจัยหลักที่มีศักยภาพ ที่จะสนับสนุนการเติบโตของเอเชียต่อไปได้อีกในระยะยาว

ภาคบริการได้เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การจ้างงานและการผลิตได้ย้ายจากภาคเกษตรไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่ภาคบริการ ตามความก้าวหน้าที่มาพร้อมกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน หลายประเทศในเอเชีย รวมถึง จีน อินโดนีเซีย เกาหลี และ ไทย มีการพัฒนาอุตสาหกรรมถึงขั้นสูงแล้ว หากดูจากข้อมูลที่ผ่านมาในอดีตเป็นตัวชี้นำ ส่วนแบ่งการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจะมีโอกาสลดลง อย่างที่กิจกรรมต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาคบริการมากขึ้น

ที่ผ่านมา การเติบโตของภาคบริการได้ดึงดูดประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานในภูมิภาคเข้าสู่ภาคส่วนดังกล่าว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเพียงร้อยละ 22 ในปี 1990 เนื่องจากแรงงานหลายร้อยล้านคน เปลี่ยนจากการทำงานเกษตรกรรมและโรงงาน การเปลี่ยนแปลงนี้มีแนวโน้มที่จะเร่งการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ ในการบริการที่ทันสมัย เช่น การเงิน สารสนเทศ และ เทคโนโลยีการสื่อสาร 

รวมถึงการ business outsourcing (ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย และฟิลิปปินส์ ที่ดำเนินการแล้ว) ในทางตรงกันข้าม ภาคบริการแบบดั้งเดิม เช่น การท่องเที่ยว (tourism) หรือ การบริการจัดจำหน่าย (distribution services) มีผลิตภาพต่ำกว่า และ มีส่วนผลักดันน้อยกว่าต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

ผู้กำหนดนโยบายควรเปิดรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ไปสู่ภาคบริการสมัยใหม่ เนื่องจากบริการเหล่านี้มีผลิตภาพที่สูงกว่า (สามารถดูข้อมูลตัวเลขได้จากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำเดือนตุลาคม 2567 ของ IMF) การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยบริการมากขึ้น มาพร้อมกับโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องมีนโยบายที่เหมาะสมในการกำกับดูแล 

ผลิตภาพเป็นตัวแปรสำคัญ เมื่อพิจารณาว่า ภาคส่วนใดสามารถสร้างการเติบโตได้ดีที่สุดในปีต่อ ๆ ไป ผลิตภาพการผลิต ภาคอุตสาหกรรมในเอเชียนั้น อยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับผู้นำของโลกแล้ว 

ดังนั้น การพัฒนาเพิ่มเติมในภาคนี้ ทำได้เพียงจำกัดขอบเขตในการเพิ่มผลิตภาพและการเติบโต ในทางกลับกัน ภาคบริการในเอเชียไม่ได้มีความได้เปรียบในด้านผลิตภาพ ดังนั้น เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ มีโอกาสที่จะได้รับประโยชน์มากขึ้น หากภาคบริการได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ

                           การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ ในหลายภาคส่วนการบริการ เช่น การเงินและบริการทางธุรกิจ ผลิตภาพจะสูงกว่าในภาคการผลิต ซึ่งหมายถึงการมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น 

หากมองไปข้างหน้า การเคลื่อนไหวเข้าสู่ภาคบริการ จะมีความสำคัญมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงไปสู่บริการที่มีผลิตภาพสูงขึ้น จะต้องการการลงทุนในด้านการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อให้มีทักษะที่จำเป็น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้แรงงานสามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การบูรณาการระหว่างประเทศในภาคบริการอย่างต่อเนื่องจะเป็นกุญแจสำคัญ โดยมุ่งเน้นที่การเพิ่มความสามารถในการค้าและการแข่งขันในภาคบริการ 

ในหลายเศรษฐกิจ การเพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร ยังคงมีความสำคัญในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและการเติบโต พร้อมกับการลดอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานและทรัพยากรข้ามภาค

นโยบายในการเพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแรงงานสูงอายุและผู้หญิง จะมีความสำคัญในการลดผลกระทบจากการสูงวัยของประชากรและการลดลงในหลายภูมิภาค