บทเรียนการล้มกฎอัยการศึกเกาหลีใต้ สู่ความหวังล้มโกงในไทย

11 ธ.ค. 2567 | 11:26 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2567 | 11:38 น.

บทเรียนการล้มกฎอัยการศึกเกาหลีใต้ สู่ความหวังล้มโกงในไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย…ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4052

ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ในสายตาของคนส่วนใหญ่ แต่หากมองไปยังประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับปัญหานี้ เช่น เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น จะพบว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถ โดยเฉพาะเมื่อประชาชนมีความตื่นตัว และพร้อมที่จะลุกขึ้นมาปกป้องประชาธิปไตยและความโปร่งใส
 
ที่ผ่านมา ประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาคอร์รัปชันด้วยการออกกฎหมายและจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบจำนวนมาก มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันมากมาย และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายหน่วยงาน ทั้ง ป.ป.ช. ป.ป.ท. ปปง. สตง. และ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตประจำกระทรวงต่าง ๆ 

แต่การมีกฎหมายและหน่วยงานจำนวนมาก กลับไม่ได้ช่วยให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้าม กลับนำไปสู่การทำงานที่ซ้ำซ้อน และเป็นภาระในการบังคับใช้กฎหมาย บางครั้งหน่วยงานเหล่านี้กลับกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง มากกว่าจะเป็นกลไกในการตรวจสอบการทุจริตอย่างแท้จริง

เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2024 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของพลังประชาชนและความเข้มแข็งของระบบประชาธิปไตย เมื่อ ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล ประกาศกฎอัยการศึกโดยไม่มีเหตุอันควร อ้างเพียงการต่อต้านจากฝ่ายค้านในสภาที่ครองเสียงข้างมากถึง 170 จาก 300 ที่นั่ง ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง 

ประชาชนและสมาชิกรัฐสภาได้ออกมาต่อต้านทันที แม้จะมีการส่งทหารและรถถังเข้าควบคุมพื้นที่ มีเฮลิคอปเตอร์บินวนเหนือรัฐสภา และมีการปิดประตูไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปในอาคารรัฐสภา
 
ด้วยความกล้าหาญของประชาชนและสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านที่ปีนรั้วเข้าไปในรัฐสภา จับปลายกระบอกปืนทหาร และช่วยกันดันทหารออกจากพื้นที่ พร้อมกับการประชุมสภาฉุกเฉินในยามดึก จนนำไปสู่การลงมติยกเลิกกฎอัยการศึกด้วยคะแนนเสียง 190 ต่อ 0 ซึ่งรวมถึงสมาชิกจากพรรครัฐบาลเองถึง 18 คน ทำให้ความพยายามในการใช้อำนาจเผด็จการต้องยุติลงภายในเวลาเพียง 6 ชั่วโมง 

สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อประชาชนและสถาบันประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง การใช้อำนาจโดยมิชอบก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้

การที่สมาชิกพรรครัฐบาลเองถึง 18 คนร่วมลงมติยกเลิกกฎอัยการศึก แสดงให้เห็นว่า ระบบตรวจสอบถ่วงดุลในระบอบประชาธิปไตยสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แม้ในยามวิกฤต สมาชิกรัฐสภายังสามารถยืนหยัดทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ 

นอกจากนี้ การที่รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ กำหนดให้สภาสามารถยกเลิกกฎอัยการศึกได้ด้วยเสียงข้างมาก ก็เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยป้องกันการใช้อำนาจเกินขอบเขตของฝ่ายบริหาร
 
เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างแนวทางที่น่าสนใจ ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันสำหรับไทย คือ การเปลี่ยนจากการควบคุมด้วยกฎระเบียบ ที่เข้มงวด มาเป็นการสร้างความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ 

แทนที่จะกำหนดว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ ควรเปิดให้ดำเนินการได้แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ เช่น ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ทรัพย์สินของนักการเมือง คำตัดสินคดีทุจริต และรายชื่อบริษัทที่เคยกระทำผิด การเปิดเผยข้อมูลจะช่วยให้ประชาชนและผู้เชี่ยวชาญสามารถร่วมตรวจสอบได้ และยังเป็นการป้องปรามการทุจริตตั้งแต่ต้นทาง
 
หนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในประเทศไทยคือ เครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน หรือ ACT Ai (actai.co) ที่พัฒนาโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับ HAND Social Enterprise บนฐานความรู้จากงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ 

เครื่องมือนี้ช่วยให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ผ่านการเชื่อมโยงและเปิดเผยชุดข้อมูลต่างๆ เช่น ฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง ที่รวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลประวัติของบุคคลสาธารณะเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ
 
ความแตกต่างระหว่างการเปิดเผยข้อมูลแบบเดิมกับแนวทางใหม่ทเห็นได้ชัดจากการเปรียบเทียบระหว่างเว็บไซต์ฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ที่ประชาชนจะต้องรู้เลขรหัสโครงการและรายละเอียดอื่น ๆ ถึงจะค้นหาข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างแต่ละโครงการเจอ 

แต่ ACT Ai นำมาจัดรูปแบบการค้นหาให้ง่าย เพียงแค่ใส่คำที่ต้องการค้นหา ก็สามารถหาโครงการที่สนใจเจอได้เหมือนการค้นข้อมูลใน Google หรือเว็ปไซต์แสดงบัญชีทรัพย์สินของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งแสดงข้อมูลในรูปแบบเอกสารที่ไม่สามารถคัดลอก ดาวน์โหลด หรือนำไปวิเคราะห์ต่อได้ 

ฐานข้อมูลของ ACT Ai พยายามเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทำให้ประชาชนสามารถเห็นภาพรวมและความเชื่อมโยงของข้อมูลได้ชัดเจนขึ้น นี่คือตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างความโปร่งใส แทนที่จะพึ่งพาเพียงกฎหมายและการบังคับใช้

                                  บทเรียนการล้มกฎอัยการศึกเกาหลีใต้ สู่ความหวังล้มโกงในไทย
 
นอกจากนี้ ด้านการสนับสนุนทางวิชาการ ศูนย์ความรู้เพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน (KRAC) ภายใต้การดำเนินงานของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ และการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำลังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ศูนย์ฯ มีบทบาทสำคัญในการรวบรวม เผยแพร่ และพัฒนาองค์ความรู้ทั้งในเชิงวิชาการและปฏิบัติเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน

KRAC ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่สามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหา และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

การทำงานในลักษณะเครือข่ายระหว่างประเทศนี้ ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศในภูมิภาค ซึ่งมีบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน ทำให้สามารถพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศได้
 
การแก้ปัญหาคอร์รัปชันอาจดูเป็นเรื่องใหญ่เกินกำลังของคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างพวกเรา แต่ด้วยเครื่องมือและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ACT Ai รวมถึงความร่วมมือจากภาคประชาสังคมและภาควิชาการอย่าง KRAC ทำให้การตรวจสอบและสร้างความโปร่งใสเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้น 

เหตุการณ์ในเกาหลีใต้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า แม้แต่ผู้นำประเทศที่พยายามใช้อำนาจเกินขอบเขต ก็ไม่อาจต้านทานพลังของประชาชนและกลไกประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้ 

ทั้งนี้ การต่อต้านคอร์รัปชันไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นภารกิจร่วมของทุกคนในสังคม การสร้างสังคมที่โปร่งใส และปราศจากคอร์รัปชันอาจเป็นเส้นทางที่ยาวไกล แต่ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม รวมถึงระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ เป้าหมายนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้