บทบาทของแบงก์ชาติในการดูแลค่าเงิน

04 ธ.ค. 2567 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2567 | 13:02 น.

บทบาทของแบงก์ชาติในการดูแลค่าเงิน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... รศ.ดร.พรชนก คัมภีรยส คูเวนเบิร์ค คณะเศรษฐศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4051

เมื่อย้อนดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปีนี้ จะเห็นว่าเงินบาทขึ้นลงเหมือนรถไฟเหาะ คือ จากประมาณ 34.4 บาทต่อหนึ่งเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนมกราคม ปลายเดือนเมษายน เงินบาทอ่อนค่าลงไปถึงจุดต่ำสุดที่ 37.2 บาท หรืออ่อนค่าลงไปประมาณ 7.5% 

จากนั้นก็แข็งค่าไป 14.8% ถึงระดับสูงสุดที่ 32.4 บาท เมื่อต้นเดือนตุลาคม แล้วกลับอ่อนค่าลงมาอีกประมาณ 6% อยู่ที่ 34.5 บาทปลายเดือนพฤศจิกายน และก็เหมือนเคยที่เมื่อเงินบาทแข็งค่ารุนแรง ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็จะถามหาความรับผิดชอบจากแบงก์ชาติ ทั้งให้แบงก์ชาติ “แทรกแซงเงินบาท” “แก้ปัญหาบาทแข็ง” “รักษาค่าเงินที่ 37 บาท” 

บทความนี้จึงอยากชวนทำความเข้าใจ เกี่ยวกับการแทรกแซงค่าเงินของแบงก์ชาติ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ดูแลไม่ให้เงินบาทแข็ง แต่มีหน้าที่ดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป

การแทรกแซงค่าเงินทำได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงทำโดยการเข้าซื้อขายเงินตราต่างประเทศ เช่น ถ้าอยากให้เงินบาทอ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ธปท. จะเข้าตลาดเงินตราต่างประเทศ เพื่อขายเงินบาทซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทางอ้อมทำได้โดย เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อให้ผลตอบแทนการถือเงินบาทลดลง นักลงทุนจะได้ทิ้งบาทไปถือเงินสกุลอื่น ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หรือใช้ยาแรงอย่างมาตรการสกัดเงินทุนไหลเข้าที่ใช้ในปี 2549

บทความนี้ จะพูดถึงการแทรกแซงทางตรง คือ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของธนาคารกลาง แต่วัตถุประสงค์ก็อาจต่างกันไป หลักๆ มี 2 อย่าง คือ แทรกแซงเพื่อรักษาค่าเงิน กับ เพื่อลดความผันผวนของค่าเงิน ที่หลายฝ่ายเรียกร้องคือ แบบแรก ให้ ธปท. แทรกแซงเพื่อรักษาค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า เรียกว่า Neo-mercantilist intervention แทรกแซงเพื่อให้การค้าขายของไทยได้เปรียบในต่างประเทศ 

แต่ที่ ธปท. ทำคือแบบที่สอง เรียกว่า Leaning-against-the-wind intervention แทรกแซงเพื่อลดความผันผวนของค่าเงิน คือ ไม่ได้ตั้งธงที่ระดับอัตราแลกเปลี่ยน เพียงแค่กำหนดกรอบการเคลื่อนไหว ถ้าเงินบาทแข็งเกินกรอบ ธปท. จะขายบาท ถ้าบาทอ่อนหลุดกรอบ ธปท. จะเข้าซื้อบาท

ดูเหมือน ธปท. ใจร้ายสำหรับประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักอย่างประเทศไทย แต่จริงๆ แล้วมีเหตุผลอย่างน้อย 4 ประการที่อธิบายว่า ทำไม ธปท. จึงให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของเงินบาทมากกว่าค่าเงินบาท

หนึ่ง เพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ : หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยประกาศใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการ คือ ปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวตามอุปสงค์อุปทานที่เปลี่ยนแปลงไป การบริหารจัดการเป็นไปเพื่อดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนมากเกินไปและไม่ขัดกับเป้าหมายเงินเฟ้อ ธปท.

ดูแลความสามารถในการค้าขายกับต่างประเทศในภาพรวมโดยพิจารณาจากค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินต่างๆ ของประเทศคู่ค้า ไม่ใช่เฉพาะแต่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นเมื่อเลือกระบบนี้เแล้วประกาศปล่อยลอยตัวไปแล้วก็ควรทำตามนั้น

สอง เพราะการป้องกันเงินบาทแข็งค่าไม่ได้มีแต่แง่ดี : เงินบาทอ่อนมีผลเสีย คือ ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพง ต้นทุนการผลิตและระดับราคาในประเทศเพิ่มสูงขึ้น หนี้สินที่ไปกู้ต่างชาติมามีมูลค่าเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาท 

ขณะที่ ธปท. ได้ชี้ให้เห็นว่า จากสถิติที่ผ่านมา การที่เงินบาทแข็งค่าไม่กระทบปริมาณการส่งออก แต่กระทบรายได้ของผู้ส่งออก ส่วนการท่องเที่ยวก็ไม่ได้รับผลกระทบนัก เพราะนักท่องเที่ยววางแผนการเดินทางมาก่อนล่วงหน้า และนักท่องเที่ยวหลักของไทยมาจากจีน และมาเลเซีย ซึ่งที่ผ่านมาเงินบาทเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเงินหยวน ขณะที่อ่อนค่าหากเทียบกับมาเลเซียนริงกิต แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการแข่งขันของไทย ไม่ได้ขึ้นกับการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์

สิ่งที่ ธปท. พบสอดคล้องกับการศึกษาของ Levy-Yeyati et al. (2013) ที่พบว่า การป้องกันเงินแข็งค่าโดยการซื้อเงินตราต่างประเทศนั้น ไม่มีผลต่อปริมาณการส่งออกของประเทศ แต่ทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เนื่องจากค่าเงินอ่อนทำให้กำไรของผู้ส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานลดลง เป็นการถ่ายโอนความมั่งคั่ง (Wealth Transfer) จากผู้มีรายได้ต่ำสู่ผู้มีรายได้สูง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะออมมากกว่า

เมื่อการออมเพิ่มสูงขึ้นการลงทุนการจ้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเพิ่มสูงขึ้นพร้อมกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ 
ส่วนงานของ Cumperayot and Kouwenberg (2021) พบว่า การที่เงินมีราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น (Currency undervaluation) โดยการแทรกแซงในตลาดเงินตราต่างประเทศนั้น ไม่ส่งผลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การแทรกแซงค่าเงินนี้มีความสัมพันธ์เป็นลบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

                                  บทบาทของแบงก์ชาติในการดูแลค่าเงิน

สาม เพราะนโยบายป้องกันเงินบาทแข็งค่า จัดเป็น Beggar-thy-neighbor policy (นโยบายผลักเพื่อนบ้านให้เป็นยาจก) : นโยบายรักษาค่าเงินบาทเพื่อความได้เปรียบทางการค้ากับต่างชาติ เพิ่มการส่งออกลดการนำเข้า เป็น Unfair trade (การค้าที่ไม่เป็นธรรม) รูปแบบหนึ่ง ส่งผลเสียต่อประเทศคู่แข่งรวมถึงประเทศคู่ค้า 

ดังนั้น แม้หากการอ่อนค่าของเงินบาท สามารถช่วยกระตุ้นการส่งออกได้จริง การเรียกร้องนโยบายดังกล่าวออกสื่อ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง อาจถูกมองว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (Currency manipulator) นำไปสู่มาตรการตอบโต้ทางการค้า หรือ อาจจุดชนวนสงครามค่าเงิน (Currency war) สงครามที่ประเทศต่างๆ แข่งขันกันลดค่าเงิน เพื่อกระตุ้นการส่งออก และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

สี่ เพราะการแทรกแซงค่าเงินไม่ควรขัดกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ : แม้ว่าจะมีหลายทฤษฎีหลากบรรทัดฐานที่อธิบายการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน และไม่ง่ายที่จะฟันธงว่า อัตราแลกเปลี่ยนระดับใดสอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ แต่สำหรับเงินบาทนั้น น่าสนใจที่ทฤษฎีต่างๆ พยากรณ์ไว้ในทิศทางเดียวกันว่า ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เงินบาทมีราคาถูกเกินไป เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นในอนาคตเงินบาทจะแข็งค่าไปได้อีกมาก

อัตราแลกเปลี่ยนต่อหนึ่งเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ควรอยู่ที่เท่าไหร่ จากข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2567 อัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ราคาเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลในไทย และในสหรัฐฯ เท่ากันควรอยู่ที่ 23.7 บาท (Big Mac Index จาก Purchasing Power Parity) อัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ราคาเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลในไทย สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของไทยควรอยู่ที่ 29.2 บาท (GDP-adjusted Big Mac Index ตาม Balassa-Samuelson model) และ อัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ประเทศไทยมีดุลการค้าสมดุลย์ตลอด 5 ปีข้างหน้า ควรอยู่ที่ 26 บาท (CPA Currency Misalignment Monitor โดยหาจาก Fundamental Equilibrium Exchange Rate model)

สรุป คือ ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการบริหารจัดการนี้มาเกือบจะ 30 ปีแล้ว ธปท. มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนจนเกินไป ไม่ใช่ตรึงค่าเงินบาท การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเป็นสัจธรรม เลี่ยงไม่ได้ เป็น Known unknown คือ ความไม่แน่นอนที่เรารู้ว่ามีอยู่และสามารถเลือกที่จะจัดการได้ 

อัตราแลกเปลี่ยนที่ควรจะเป็นจากทั้งสามทฤษฎี พยากรณ์แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทนอกเหนือจากความผันผวนระยะสั้นที่ยากจะคาดเดา การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นความเสี่ยงรูปแบบหนึ่งที่เรามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบดูแลตัวเอง

อ้างอิง : Levy-Yeyati, Eduardo, Federico Sturzenegger, and Pablo Alfredo Gluzmann. "Fear of appreciation." Journal of Development Economics 101 (2013): 233-247.
Cumperayot, Phornchanok, and Roy Kouwenberg. "Cheaper currencies and long‐term growth: The effect of exchange rate management and capital controls." The World Economy 44, no. 9 (2021): 2738-2757.