บทบาทของการค้าและการลงทุนดิจิทัลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

20 พ.ย. 2567 | 11:36 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2567 | 11:46 น.

บทบาทของการค้าและการลงทุนดิจิทัลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... ผศ.ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4046

การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีพัฒนาจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาประยุกต์ใช้ โดยอยู่ในรูปของการค้าดิจิทัล (Digital trade) และ การลงทุนดิจิทัล (Digital investment) ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 

การค้าดิจิทัล หมายถึงการค้าระหว่างประเทศ ที่มีการสั่งซื้อสินค้าและ/หรือส่งมอบบริการผ่านช่องทางดิจิทัล ตามนิยามของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), OECD, UNCTAD และองค์การการค้าโลก (WTO) โดยตัวอย่างของการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ คือ การซื้อหนังสือ เสื้อผ้า หรือ เครื่องสำอางผ่านช่องทางออนไลน์จากผู้ค้าในต่างประเทศ 

ส่วนการส่งมอบบริการออนไลน์ ตัวอย่างเช่น การดาวน์โหลดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ บริการสตรีมมิ่ง และ บริการให้คำปรึกษาออนไลน์ ส่วนธุรกรรมที่มีทั้งการสั่งซื้อและส่งมอบออนไลน์ได้แก่ การดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ซึ่งมีการสั่งซื้อออนไลน์และดาวน์โหลดจากออนไลน์

การลงทุนดิจิทัลโดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign direct investment: FDI) เป็นส่วนที่ขับเคลื่อนการเติบโตของการค้าดิจิทัล โดยช่วยเพิ่มความสามารถทางดิจิทัลของประเทศ ซึ่งสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าดิจิทัลของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนา การลงทุนดิจิทัลประกอบด้วย 3 ส่วนคือ 

(1) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่นโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและอินเตอร์เน็ต ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้ผลิตอุปกรณ์ และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ (2) การลงทุนของธุรกิจทั่วไปในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และ (3) การลงทุนในธุรกิจด้านดิจิทัล อาทิเช่น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงธุรกิจที่มีทั้งธุรกิจแบบดั้งเดิมและธุรกิจผ่านช่องทางดิจิทัล การลงทุนเหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้การค้าดิจิทัลขยายตัว

การพัฒนาทางด้านสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อที่ต่อการค้าดิจิทัล (Digital trade enabler) เป็นอีกหนึ่งส่วนที่มีความสำคัญต่อการค้าดิจิทัล เนื่องจากในการทำธุรกรรมต้องใช้สินค้าคือ คอมพิวเตอร์ แท็บเลต หรือ สมาร์ทโฟน และ บริการจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ซึ่งการพัฒนาการค้าดิจิทัล จำเป็นต้องพัฒนาทั้งทางด้านการลงทุนและปัจจัยเหล่านี้ควบคู่กันไปด้วย

จาก Asia-Pacific Trade and Investment Report 2023/24 ของ UNESCAP (2023) ระบุว่าการค้าดิจิทัล ช่วยให้สามารถเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น และส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางแพลตฟอร์ม สามารถเข้าถึงข้อมูล และจัดการข้อมูล 

นอกจากนี้ บริการด้านดิจิทัลยังเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิตในปัจจุบัน ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้สามารถมีการให้บริการข้ามพรมแดนได้สำหรับบริการที่สำคัญ ซึ่งนำมาสู่ประโยชน์จากการมีต้นทุนทางการค้าที่ลดลง มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และมีการเข้าถึงข้อมูล ผลประโยชน์ดังกล่าวสามารถช่วยให้รัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายความเจริญเติบโตแบบองค์รวมและมีความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม

ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ถูกกล่าวถึงมากขึ้นในปัจจุบัน Digital Economy Report 2024 จาก UNDP (2024) เป็นหนึ่งงานที่กล่าวถึง Environmental footprint ของการประยุกต์ใช้ดิจิทัล โดยพิจารณาถึงวงจรชีวิต (Life cycle) ของสินค้าในอุตสาหกรรมข้อมูล สารสนเทศ และเทคโนโลยีว่าในขั้นตอนการผลิต  การใช้ รวมถึงขยะ (Waste) ที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

ประกอบกับแนวโน้มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนการค้าและการลงทุน ทำให้ควรคำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันกับการส่งเสริมการค้าดิจิทัล ตัวอย่างหนึ่งที่รายงานของ UNCTAD กล่าวถึงคือ การลงทุนในศูนย์ข้อมูล (Data center) ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการค้าดิจิทัล 

รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) มาใช้ โดยระบุว่า ในการดำเนินการของศูนย์ข้อมูลใช้พลังงานมาก และใช้น้ำในการลดอุณหภูมิของระบบ ซึ่งอาจกระทบการจัดสรรพลังงานและน้ำในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้ง 

นอกจากนี้ ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-Waste) เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง พร้อมกับการพิจารณาประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ช่วยให้มีในการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม

ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมการค้า และ การลงทุนดิจิทัล พร้อมกับแนวทางในการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือแนวทางแบบสมดุล เพื่อให้สามารถส่งเสริมการพัฒนาแบบองค์รวมอย่างยั่งยืน และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมต่อไป