มารู้จักกับ Life-Cycle Assessment (LCA) เพื่อวัด Carbon Footprint

16 ต.ค. 2567 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2567 | 12:14 น.

มารู้จักกับ Life-Cycle Assessment (LCA) เพื่อวัด Carbon Footprint : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...รศ.ดร.วรประภา นาควัชระ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Life-Cycle Assessment (LCA) คืออะไร?

LCA เป็นวิธีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิต ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ (Raw Material Sourcing) กระบวนการผลิต (Manufacturing) การใช้งาน (Use) ไปจนถึงการกำจัดซาก (Disposal) ว่าในแต่ละขั้นตอนของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เช่น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ มลพิษอื่น ๆ ออกมาเท่าไหร่ ในขั้นตอนไหน

การใช้ LCA เพื่อวัด Carbon Footprint of Products (CFP) 

ถือเป็น LCA แบบจำกัด ที่มุ่งเน้นเฉพาะผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยจะมีการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ปล่อยออกมาตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์  

โดยมักคำนวณในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) การวัด Carbon Footprint of Products จะทำให้เราทราบถึง Hot Spots หรือจุดที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะได้มามารถหาแนวทางแก้ไขได้ตรงจุด

ตัวอย่างจากข้อมูล Agri-Food Products ในประเทศไทย 

ผู้เขียนได้นำข้อมูล Carbon Footprint ของ Agri-Food Products (อาหาร, เครื่องดื่ม, อาหารสัตว์) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) มาทำการวิเคราะห์ว่า Hot Spots ของสินค้าเหล่าอยู่ที่จุดไหน 

พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว Hot Spots อยู่ที่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ (Raw Material Sourcing) คิดเป็น 81.29% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดวงจรชีวิตของสินค้าเลยทีเดียว   

ในขณะที่กระบวนการการผลิต (Manufacturing) จริง ๆ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 12.52% จากข้อมูลนี้ทำให้ทราบว่า หากต้องการลดก๊าซเรื่อนกระจกของสินค้าเหล่านี้ จะต้องไป Focus ที่ Supply Chain ของ Suppliers ที่ขายวัตถุดิบเข้ามาซึ่งอาจต่อเนื่องไปถึงการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกร
                                  มารู้จักกับ Life-Cycle Assessment (LCA) เพื่อวัด Carbon Footprint

การใส่ใจต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เนื่องจากทุกขั้นตอนในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ล้วนมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้ Life-Cycle Assessment (LCA)  และการวัด Carbon Footprint ช่วยให้เราเข้าใจและจัดการกับผลกระทบนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   

ไม่เพียงแต่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและประหยัดต้นทุนในระยะยาว 

ในฐานะผู้บริโภค การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี Carbon Footprint ต่ำเป็นการแสดงพลังในการขับเคลื่อนตลาดสู่ความยั่งยืน  

ขณะที่ผู้ผลิตก็สามารถใช้ข้อมูลนี้ในการพัฒนาและสื่อสารความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะร่วมกันใส่ใจ Carbon Footprint เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับโลกของเรา