กระแสทุนนิยมในโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ

31 ก.ค. 2567 | 14:23 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2567 | 14:40 น.

กระแสทุนนิยมในโลกแห่งความเหลื่อมล้ำ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4014

โดยทั่วไปแล้วมนุษย์สามารถถูกจำแนกออกจากกันได้ด้วยปัจจัยง่าย ๆ อาทิเช่น เพศสภาพ ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ หรือภาษา เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงปัจจุบันนี้ เราก็พยายามที่จะแบ่งกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมออกจากกันซึ่งทำได้อย่างง่ายที่สุด คือ การแบ่งตามเศรษฐานะ (socioeconomic categories) ซึ่งองค์ประกอบนี้ถือเป็นปัจจัยที่ภาครัฐ และภาคเอกชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ผ่านการออกนโยบายที่เหมาะสม ตลอดจนการผลิตสินค้าและบริการที่ตรงกลุ่มและตรงใจประชาชนและผู้บริโภคนั่นเอง 

อย่างไรก็ดี การแบ่งประชาชนด้วยปัจจัยดังกล่าว ระดับรายได้และทรัพย์สิน ก็มักเป็นสิ่งที่จะถูกนำมาพิจารณาอยู่เสมอ แต่อย่างที่ทราบกันว่า ช่องว่างของระดับรายได้และทรัพย์สินระหว่างคนในสังคมเดียวกันนั้น ได้แยกห่างออกจากกันไปเรื่อย ๆ 

โดยกลุ่มคนที่รวยและส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจนั้น ก็ใช้ความสามารถในการเพิ่มความมั่งคั่งให้กับกลุ่มตนเองได้เป็นอย่างมาก ซึ่งต่างกับกลุ่มคนส่วนใหญ่ ที่เป็นประชาชนกลุ่มล่าง ที่สามารถขยับขยายความมั่งคั่งของกลุ่มตนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และค่อนข้างจะเปราะบางต่อปัจจัยกระทบภายในและภายนอกต่าง ๆ อยู่มากพอสมควร  

ผู้เขียนขออนุญาตยกตัวอย่างช่องว่างของความสามารถ ในการสร้างความมั่งคั่งระหว่างของคนสองกลุ่ม ให้ผู้อ่านเข้าใจได้มากขึ้น จากกรณีศึกษาของต่างประเทศ ดังนี้ 

ท่านผู้อ่านทุกท่านน่าจะรู้จักบริษัท Amazon ที่มี Jeff Bezos เป็น CEO โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาสำนักข่าว CNN (2024) ระบุว่า Jeff Bezos นั้น มีทรัพย์สินมูลค่าสูงถึงประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 7.2 ล้านล้านบาท) 

และจากข้อมูลของสำนักข่าว Money (2018) ได้ประมาณค่ามัธยฐาน หรือ ค่ากลางของรายได้เฉลี่ยต่อปีของพนักงานบริษัท Amazon ในปี 2017 ว่า อยู่ที่ประมาณ 28,446 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 1,000,000 บาท) 

และหากนำตัวเลขดังกล่าวมาคำนวณโดยเปรียบเทียบกับรายได้ในปีเดียวกัน ของ Jeff Bezos จะเห็นได้ว่า เขาใช้เวลาเพียง 8.93 วินาที ในการหารายได้ให้เท่ากับรายได้ทั้งปีของพนักงานหนึ่งคนในบริษัท 

หากกลับมามองในประเทศไทย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำ จากข้อมูลของธนาคารโลก (2023) ระบุไว้ว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ (Gini coefficient) ของประเทศไทยสูงถึง 0.43 (โดยสัมประสิทธิ์จีนีจะมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 เมื่อค่าเป็น 0 แสดงถึงการที่ทุกคนในสังคมมีรายได้เท่าเทียมได้ 

แต่ถ้าค่าเป็น 1 แสดงถึงรายได้ทั้งหมดในสังคมไปตกอยู่กับคนเพียงคนเดียว) ถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสูงเป็นอับดับที่ 13 ของโลกจากทั้งหมด 63 ประเทศทั่วโลก 
นอกจากนี้ธนาคารโลกได้ระบุเพิ่มเติมไว้ว่า ปัจจัยแห่งความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในประเทศไทยนั้นเกิดมาจากสองปัจจัยหลักได้แก่ “อาชีพ” และ “การศึกษา” ของหัวหน้าครอบครัว (Head of the household) นั่นเอง 

ในปัจจุบันที่สังคมทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยนั้น ตกอยู่ภายใต้กระแสทุนนิยม ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเป็นสังคมที่ถูกปกครองด้วยชนชั้นนายทุน ที่เข้ามาผูกขาดอำนาจทางการเมือง ซึ่งในทางวิชาการระบอบดังกล่าวถูกเรียกว่า “ธนาธิปไตย (Plutocracy)” แม้ว่ารูปแบบการปกครองนี้ จะเป็นสิ่งที่ถูกคนหลายกลุ่มมองว่า เป็นระบอบที่สร้างความเอารัดเอาเปรียบ และกัดเซาะปัจจัยแห่งการเจริญเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่พอสมควร 

แต่ในบางมุมระบอบการปกครองรูปแบบดังกล่าว ก็มีข้อดีอยู่ในตัวเองเช่นเดียวกัน เสมือนเหรียญที่มีสองด้าน จึงอาจกล่าวได้ว่าระบอบธนาธิปไตยนี้ ได้แทรกซึมเข้าไปในระบบการบริหารประเทศเกือบทุกประเทศในปัจจุบันเป็นเรียบร้อยแล้ว

แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศแห่งเสรีภาพและโอกาส ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากที่ใด หรืออยู่ในเศรษฐานะระดับใด ก็สามารถประสบความสำเร็จและร่ำรวยได้ด้วยตนเอง เป็นประเทศขับเคลื่อนด้วยสังคมประชาธิปไตยโดยประชาชนในทุกระดับ 
คำถามก็คือ สหรัฐอเมริกานั้นได้ขับเคลื่อนด้วยระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อย่างที่หลายท่านคิดหรือไม่ หรือแท้จริงแล้ว สหรัฐอเมริกานั้น ก็เป็นประเทศแห่งธนาธิปไตยคล้ายกับทุกประเทศทั่วโลกอย่างที่ผู้เขียนได้กล่าวอ้างไว้ข้างต้น 

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ การออกนโยบายในประเทศสหรัฐอเมริกา การออกนโยบายจากรัฐส่วนใหญ่ แม้อาจจะอ้างว่าเป็นนโยบายที่มีประชาชนกลุ่มเปราะบางเป็นผู้รับผลประโยชน์ก็ตาม แต่ก็ไม่พ้นว่าคนที่รับประโยชน์ในขั้นตอนแรก และขั้นตอนสุดท้ายมักจะเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจและกลุ่มคนรวยนั่นเอง 

ในยุคของประธานาธิบดี Donald Trump ช่วงปี 2017 ได้มีการออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการลดภาษีให้กับประชาชนชาวอเมริกัน ซึ่งในทางปฏิบัติ The Guardian (2019) ระบุว่า นโยบายดังกล่าวกลับให้ประโยชน์แก่กลุ่มคนมั่งคั่งที่สุด ที่มีอยู่เพียงร้อยละ 0.1 ของคนในประเทศ ส่งผลให้คนรวยที่สุดบนยอดพีระมิดจ่ายภาษีน้อยลง 

โดยในปี 2018 ครอบครัวที่มีฐานะรวยที่สุดในประเทศ 400 ครอบครัวจ่ายภาษีเฉลี่ยเพียงแค่ร้อยละ 23 ของรายได้ ขณะที่ชนชั้นกลางถึงล่างส่วนใหญ่กลับต้องจ่ายภาษีโดยเฉลี่ยร้อยละ 24.2 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในความพยายาม ที่จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวย และคนจน ในประเทศสหรัฐอเมริกา 

จึงไม่แปลกที่จะเห็นว่า สหรัฐอเมริกาเป็นหนี่งในประเทศกลุ่มรายได้สูงที่มีค่าสัมประสิทธิ์จีนีสูงที่สุดในโลก เมื่อมองย้อนไปเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว ในช่วงปี 1960 กลุ่มคนรวยเหล่านี้ จ่ายภาษีสูงถึงร้อยละ 56 และเริ่มที่จะลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งต่ำที่สุดในสมัยประธานาธิบดีท่านนี้ 

อย่างไรก็ดี สิ่งน่าสนใจที่สุดจากข้อมูลของมูลนิธิ Oxfam (2021) ได้ระบุไว้ว่า ถ้าหากกลุ่มคนที่รวยที่สุดในโลก 1% เต็มใจที่จะหันมาจ่ายภาษีเพิ่มมากขึ้นเพียง 0.5% เราจะสามารถนำเงินดังกล่าวไปเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็ก 262 ล้านคนทั่วโลก ที่หลุดจากระบบการศึกษา เนื่องจากความยากจน และยังสามารถนำเงินไปช่วยสนับสนุนทางด้านการแพทย์และสุขภาพ เพื่อช่วยชีวิตคนกว่า 3.3 ล้านคนได้เช่นเดียวกัน

มาถึงในปัจจุบัน หนึ่งในตัวอย่างที่น่าจะอธิบายความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และสินทรัพย์ได้เป็นอย่างดี ก็คือ รายงานจากสำนักข่าว CNN (2022) ระบุว่า ในช่วงวิกฤติของโรคระบาด covid-19 มีผู้ที่ตกลงไปอยู่ในสถานะความยากจนสุดขั้ว (extreme poverty) กว่า 263 ล้านคนทั่วโลก 

แต่ในช่วงเวลาเดียวกันกลับมีมหาเศรษฐีทั่วโลก มีสินทรัพย์รวมเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 42 เลยทีเดียว จึงเป็นเรื่องที่แปลกมากที่เราสามารถเห็นผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของความยากจน (คนไร้บ้าน: homeless) และความร่ำรวย (มหาเศรษฐี: billionaire) ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน  

ถึงอย่างไรก็ตาม ระบบสังคมและเศรษฐกิจที่มีชนชั้นนายทุนเป็นผู้กุมบังเหียนในการควบคุมนั้น อาจจะเป็นระบบที่มีข้อโต้เถียงถึงผลดีและผลเสียอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน 

ในส่วนของผลดีนั้น อาจกล่าวได้ว่า บุคคลเหล่านี้มักจะสร้างธุรกิจที่มีศักยภาพ สร้างพลวัตทางการทำธุรกิจ รวมไปถึงเข้ามาช่วยสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจเช่นเดียวกัน ซึ่งส่งผลต่อการสร้างรายได้ให้รัฐผ่านเม็ดเงินภาษีที่จัดเก็บ 

อาทิเช่น Elon Musk ซึ่งเป็นเจ้าของยานยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ที่เข้ามาเขย่าตลาดรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้าของคู่แข่งรายอื่นอยู่พอสมควร หรือ tech-company ขนาดใหญ่สัญชาติอเมริกาที่มีชื่อว่า Apple ที่เข้ามาทำให้ชีวิตของคนทั่วโลกสะดวกสบายขึ้น เป็นต้น 

อีกทั้งบรรดาเศรษฐีและนายทุนเหล่านี้ มักจะสร้างธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการแรงงานในการทำงานค่อนข้างมาก สามารถสร้างงานให้กับประเทศปลายทางที่มีฐานการผลิตและประเทศ ที่มีการดำเนินธุรกิจได้อย่างมหาศาล 

เริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการสร้างโรงงานผลิต ไปจนถึงแรงงานสำหรับการดำเนินงาน วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต รวมไปถึงการจ่ายภาษีเพื่อให้ภาครัฐในประเทศนั้น ๆ นำไปใช้จ่ายในรูปแบบสวัสดิการสังคมเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้ อย่างเช่น การลงทุนของบริษัท Amazon ที่สามารถสร้างการจ้างงานได้ถึงประมาณหนึ่งล้านตำแหน่งทั่วโลกเลยทีเดียว 

นอกจากนี้ การตัดสินใจลงทุนมูลค่ามหาศาลของเหล่านักธุรกิจล้วนแต่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการคืนทุน รวมถึงการทำกำไร ดังนั้นนักลงทุนดังกล่าว จึงพยายามจะทำทุกวิธีทางให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างปกติสุข ซึ่งส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้น ๆ 

และจากข้อมูลของ The Nation ในเดือนมีนาคม 2024 ระบุไว้ว่าช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม – พฤศจิกายน) ของปีที่ผ่านมามีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยเกือบ 100,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างการจ้างงานได้ถึงกว่า 6,000 ตำแหน่ง 

มากไปกว่านั้นในการลงทุนของภาคเอกชน บางครั้งยังมาในรูปแบบของโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้า BTS หรือ ทางด่วน มากไปกว่านั้น การลงทุนขนาดใหญ่ยังนำซึ่งความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ประเทศปลายทางสามารถเรียนรู้ได้อีกด้วย 

ในทางกลับกันสิ่งที่เป็นข้อถกเถียงสำคัญของการเมืองระบอบธนาธิปไตย ก็น่าจะหนีไม่พ้นเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมระหว่างคนรวย ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจและชนชั้นนำในสังคม กับกลุ่มคนจนที่ทำงานให้กับคนกลุ่มแรก เพื่อแลกเงินจำนวนเพียงเล็กน้อยเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้วันต่อวัน 

ตัวอย่างเช่น ในประเด็นของการถือครองที่ดินในประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (2024) ระบุไว้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาทางด้านการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินอยู่ค่อนข้างรุนแรง

โดยกลุ่มประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 10 มีการถือครองที่ดินมากถึงร้อยละ 60 เลยทีเดียว ซึ่งหากเราเปรียบเทียบกลุ่มคนร้อยละ 10 ด้านบนที่ถือครองที่ดินมากที่สุดกับกลุ่มคนร้อยละ 10 ด้านล่างที่ถือครองที่ดินน้อยที่สุด จะสามารถเห็นได้ความต่างถึงเกือบหนึ่งพันเท่าเลยทีเดียว 
การออกนโยบายด้วยคนส่วนน้อยเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไป

เนื่องด้วยในปัจจุบันภาคธุรกิจรายใหญ่ มักจะส่งสมาชิกในครอบครัวลงเข้าสู่เส้นทางการเมือง หรือไม่ก็เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับพรรคการเมือง เพื่อให้นักการเมืองออกนโยบายที่ส่งผลดีต่อการทำธุรกิจของกลุ่มตน ไม่ว่าจะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษี การกำหนดกฎหมาย-กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ สภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือแม้กระทั่งระดับค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมเหล่านี้ 

นอกจากนี้ การลงทุนในธุรกิจที่มีความใกล้เคียงกับธุรกิจของนายทุนรายใหญ่นั้น ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่มีสายป่านที่ยาวและหนากว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นข้อได้เปรียบจากต้นทุนต่อหน่วยการผลิต ที่มักจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากปริมาณการผลิตที่มหาศาล และด้วยต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ถูกกว่า จึงมีข้อได้เปรียบเพิ่มขึ้นอีกข้อที่สำคัญมาก คือ การตั้งราคาขายที่ถูกกว่า 

แค่เพียงข้อได้เปรียบข้อนี้เพียงข้อเดียว ก็ทำให้การเกิดขึ้นของนักลงทุนรายเล็ก ดำเนินไปได้อย่างยากลำบากอยู่พอสมควร อีกทั้งการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมรอบข้าง (negative externalities) 

ยกตัวอย่างการผลิตสินค้าของบริษัทน้ำอัดลมชื่อดังที่ส่งผลกระทบต่อประเทศที่เป็นฐานการผลิต และเป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมากทั่วโลก แม้ว่าบริษัทดังกล่าวจะมีชื่อเสียง และเป็นที่นิยมมากก็ตาม แต่ครั้งหนึ่งก็ได้รับการต่อต้านจากผู้บริโภค และประชาชนในบางประเทศอยู่พอสมควร 

จากความกังวลถึงทรัพยากรน้ำจำนวนมหาศาล ที่ถูกบริษัทดังกล่าวนำไปผลิตเป็นสินค้า ถึงขนาดมีแคมเปญต่อต้านที่มีชื่อว่า “Drinking the countries dry” เลยทีเดียว 

หรือตระกูล “the Sackler” ที่สร้างอาณาจักรระดับหมื่นล้านด้วยชีวิตและคราบน้ำตาของผู้อื่น จากบริษัทยาที่ชื่อว่า Purdue Pharma ซึ่งนำมาถึงอาการติดการใช้ยาดังกล่าวของผู้ป่วย ซึ่งบริษัทได้ถูกฟ้องร้องจากหลายพันครอบครัว ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาประสิทธิภาพยาเกินจริง รวมไปถึงการปลอมแปลงผลลัพธ์ทางด้านต่าง ๆ จากการใช้ยา จนถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนต์หลายเรื่อง

ดังนั้น ในมุมมองของผู้เขียนนั้น ภาครัฐสามารถสร้างกลไกในการลดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเข้ามามีบทบาทสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำได้ อาทิเช่น

1) ใช้ภาษีเพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง อย่างที่เราทราบกันดีว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนนั้นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลเป็นอย่างมากต่อความปัญหาเหลื่อมล้ำในสังคมทั้งเชิงสังคมและเศรษฐกิจ 

ดังนั้น หน้าที่ของรัฐนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วภาครัฐนั้น มีเครื่องมือเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือ นโยบายทางด้าน “ภาษี” ไม่ว่าจะเป็นภาษีรายได้บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล หรือ ภาษีมรดก ก็เป็นอีกหนึ่งตัวที่เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ 

ซึ่งจากงานวิจัยในประเทศอเมริกาบอกไว้ว่า เศรษฐีระดับพันล้านนั้นกว่าร้อยละ 60 รับมรดกมาจากครอบครัว รวมไปถึงภาษีที่ดินและภาษีความมั่งคั่ง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาปรับใช้กันอย่างจริงจังเสียที

2) นโยบายทางการศึกษา แม้ว่าจะมีงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาบางฉบับสรุปไว้ว่า นโยบายทางด้านการศึกษายิ่งจะทำให้ช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำขยายตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องมาจากครอบครัวที่มีพ่อ-แม่รายได้ อาชีพ และการศึกษาที่ดีกว่าส่งผลให้ลูกหลานเข้าถึงประโยชน์จากนโยบายทางด้านการศึกษาได้มากกว่า 

ถึงอย่างไรก็ตาม ในบริบทของประเทศไทย และจากผลลัพธ์จากงานวิจัยของผู้เขียนเอง (Tipayalai & Subchavaroj, 2023) นั้น มีความเห็นที่ต่างออกไป และมองว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับที่ให้เพียง 9 ปี ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นั้น ไม่สามารถลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญได้ 

หากต้องการจะทำให้นโยบายการศึกษาเห็นผลอย่างแท้จริง ภาครัฐควรปรับกฎหมายระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้สูงถึงระดับอุดมศึกษา และแน่นอนต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพและทันสมัยอีกด้วย

3) ระบบสวัสดิการครอบคลุมตลอดช่วงชีวิต ในประเทศที่มีรายได้สูง แน่นอนว่า กลุ่มประเทศเหล่านั้น ส่วนใหญ่มีสวัสดิการที่ดีตั้งแต่เกิดจนถึงภาพหลังการเกษียณอายุ ซึ่งรายได้ของรัฐในการนำเงินมาจ่ายนั้น ย่อมมาจากการเก็บภาษีในระดับที่สูงตลอดระยะเวลาการทำงานของประชาชน และการบริโภคสินค้าในชีวิตประจำวัน 

แม้ว่าประเทศไทยนั้น ยังไม่ได้มีการเก็บภาษีในระดับที่สูง แต่เนื่องด้วยประเทศไทยนั้น มีค่าครองชีพที่ไม่ได้สูงมากนัก ต้นทุนต่อการจัดสรรสวัสดิการ ก็ย่อมไม่ได้มีสูงมากเช่นเดียวกัน หากภาครัฐสามารถคิดและวางแผนในรูปแบบบูรณาการได้ และสามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่ได้จะเกินต้นทุนทางด้านการเงินที่ลงไปอย่างแน่นอน

4) ความอิสระจากภาคเอกชนและผลประโยชน์ส่วนตัว แม้ว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นวัฒนธรรมของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในหมวกของผู้เขียน ซึ่งมีสถานะเป็นอาจารย์ มองว่า ประเด็นดังกล่าวน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด ในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย 

โดยภาครัฐต้องกล้าที่จะออกนโยบายเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องผ่าน ประเด็นที่สำคัญ ๆ อาทิเช่น การปรับค่าแรงขั้นต่ำให้มากกว่าแค่พออยู่พอกิน แต่ต้องให้พนักงานสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ด้วยการกำหนดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย และมีมาตรฐานสากล ไม่เอารัดเอาเปรียบจนเกินไป 

การสร้างความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) การกำหนดแนวปฏิบัติต่อกระบวนการ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการมีอยู่ของสหภาพแรงงาน เนื่องจากหน่วยงานนี้จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับพนักงานในองค์กร ในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ 

5) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทักษะที่จำเป็นต่ออาชีพแห่งอนาคต ในปัจจุบันก็มีหลากหลายอาชีพที่ค่อย ๆ เริ่มจางหายไป และก็มีอาชีพใหม่ ๆ ที่ต้องการทักษะที่ต่างออกไปเริ่มเข้ามาแทนที่ ซึ่งภาครัฐนั้นจะต้องเตรียมตัวและลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจและอาชีพดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับโลกดิจิทัลและนวัตกรรม 

ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง (คน-เครื่องมือ) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการสร้างรายได้ให้กับประชาชนทุกกลุ่มในสังคมของประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนด้านล่างของสังคมไทย

สุดท้ายนี้ กระแสทุนนิยมในโลกแห่งความเหลื่อมล้ำคงไม่สามารถสรุปไปได้ดีกว่าคำพูดของอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Kishore Mahbubani: 2020) ที่เคยกล่าวไว้ว่า “การสร้างความมั่งคั่งเพื่อการขยับชนชั้นของชนชั้นกลาง หรือ ชนชั้นล่าง ก็เปรียบเสมือนกับการวิ่งขึ้นเขา (ที่ชันมาก) เพื่อทำคะแนน  ซึ่งแตกต่างจากชนชนชั้นสูง หรือ นายทุน ที่มีลักษณะคล้ายคลึงแต่จะเป็นการวิ่งลงเขาเพื่อทำคะแนนเท่านั้น”

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณปัญจพล สัตยานุรักษ์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยนาโงย่า ประเทศญี่ปุ่น สำหรับการค้นคว้าและช่วยรวบรวมสำหรับการเขียนบทความนี้

อ้างอิง: Tipayalai, K., & Subchavaroj, C. (2023). Assessing the spatial impact of educational attainment on poverty reduction in Thailand. Education Economics, 1-18.