คริปโทเคอร์เรนซี : การลงทุนหรือการพนัน

29 มิ.ย. 2565 | 10:30 น.
1.6 k

คริปโทเคอร์เรนซี : การลงทุนหรือการพนัน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,796 หน้า 5 วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2565

สวัสดีอีกครั้งนะคะผู้อ่านทุกท่าน อย่างที่เราทราบกันดีว่าสภาพเศรษฐกิจในทุกวันนี้ ก็ไม่ค่อยจะดีมากนัก รายได้จากงานประจำที่เราทำอยู่ก็อาจจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั้งของตัวเองและครอบครัว ดังนั้นการมองหารายได้เสริม หรือ การลงทุนในสินทรัพย์บางประเภทจึงกลายเป็นสิ่งที่น่าพิจารณา

 

โดยการลงทุนนั้น ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ยกตัวอย่างเช่น ในยุคของ Baby Boomers (กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 60-75 ปี) ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จำพวกบ้าน ที่ดิน หรือคอนโดฯ  หรือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างตํ่า เช่น ทองคำ หรือ พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น

 

ถัดมาในยุคของ Gen X และ Gen Y (อายุระหว่าง 30-59 ปี) ก็จะหันมาเน้นการลงทุนในตลาด หลักทรัพย์ หรือ ตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง-สูง

 

แต่อย่างไรก็ดี สำหรับการลงทุนสมัยใหม่ที่กลุ่ม Gen Z ให้ความสนใจกันเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ก็คือ การลงทุนในตลาดสกุลเงินดิจิทัล หรือที่เรียกว่า “คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency)”

โดยจุดเริ่มต้นของคริปโทฯ นั้น เกิดมาจากความตั้งใจที่จะปฏิรูปโครงสร้างการใช้จ่ายเงินในรูปแบบเดิม ไปสู่การใช้จ่ายเงินในรูปแบบใหม่ ภายใต้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “Blockchain” ซึ่งคริปโทฯ จะถูกนำมาใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ผ่านการจ่ายเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ถูกตั้งรหัสไว้ จึงทำให้ยากต่อการปลอมแปลง หรือ การเจาะเข้าระบบได้

 

คริปโทเคอร์เรนซี : การลงทุนหรือการพนัน

 

 

โดยคริปโทฯ จะมีโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการที่แตกต่างจากสกุลเงินปกติโดยทั่วไป ที่ต้องอาศัยการรับรองจากธนาคารกลาง และรัฐบาลในแต่ละประเทศเป็นอย่างมากทำให้ในแง่มุมหนึ่ง ภาครัฐในหลายประเทศมองว่า คริปโทฯ เป็นการพัฒนารูปแบบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ให้มีความทันสมัยและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

 

 

 

 

ในขณะที่อีกมุมหนึ่งมองว่า การใช้สกุลเงินดิจิทัล จะเป็นการบั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาล ตลอดจนระบบเศรษฐกิจในประเทศ อันเนื่องมาจากความผันผวนที่สูงของมูลค่าในตัวมันเอง 

 

ปัจจุบันเราอาจรู้จักคริปโทฯ เพียงไม่กี่ชนิด เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) หรือ อีเธอเรียม(Ethereum) เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงคริปโทฯ มีมากกว่า 6,000 เหรียญ (Altcoins) เลยทีเดียว มากไปกว่านั้น ปริมาณเงินที่ลงทุนในตลาดสกุลเงินดิจิทัลมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปี 2564 (ซึ่งสูงกว่ามูลค่าจีดีพีของประเทศไทยถึงประมาณ 6 เท่า เมื่อเทียบกับปีเดียวกัน)

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการใช้คริปโทฯ ได้ถูกใช้ไปกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การซื้อขายยาเสพติด และการพนันออนไลน์ แต่ต่อมาก็มีนักลงทุนที่มองเห็นศักยภาพของคริปโทฯ ในการที่จะเพิ่มมูลค่าให้มีระดับที่ใกล้เคียงกับสินทรัพย์รูปแบบอื่น ๆ ที่มักถูกใช้ในการลงทุน

 

โดยหากเปรียบเทียบมูลค่าของบิตคอยน์ 1 เหรียญในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 จะมีมูลค่าเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา บิตคอยน์ 1 เหรียญ ได้แตะจุดสูงสุดโดยมีมูลค่าสูงถึง 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.1 ล้านบาทเลยทีเดียว

 

โดยทั่วไป เงินตรา (Fiat money) จะเป็นสื่อกลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า หรือบริการในรูปแบบปกติ ซึ่งรัฐบาลได้ให้การรับรองมูลค่าและความสามารถในการใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยที่อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินปกติ จะขึ้นอยู่กับสถานะและความมั่งคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

ในทางตรงกันข้ามคริปโทฯ นั้น ยังไม่มีรัฐบาลใด หรือ แม้แต่หน่วยงานเอกชนรายใด ที่จะให้การรับรองมูลค่า หรือ ความสามารถในการใช้งาน (ยกเว้นประเทศเอลซัลวาดอร์) จึงทำให้คริปโทฯ ถูกมองจากรัฐบาลนานาชาติว่า เป็นความท้าทายต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนการกำกับดูแล ให้อยู่ภายใต้กฎหมายและสามารถจัดเก็บภาษีให้เกิดความเหมาะสมได้

 

แม้ว่ามูลค่าของคริปโทฯ จะถูกมองว่า เป็นการลงทุนที่มีความผันแปรเป็นอย่างมาก แต่ในปัจจุบันกลับได้การยอมรับจากนักลงทุนที่มีความกล้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากแนวคิดที่ว่าการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ก็ย่อมมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง

 

ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมกลุ่มหนึ่ง ที่ได้ศึกษาพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนในตลาดสกุลเงินดิจิทัล ว่า มีลักษณะที่คล้ายกับการเล่นการพนันหรือไม่

 

โดยในงานวิจัยดังกล่าวได้สรุปไว้ว่า บางครั้งพฤติกรรม “การลงทุน” ก็มีความทับซ้อนกับพฤติกรรมของ “การเล่นการพนัน” โดยเฉพาะนักลงทุนที่ชอบลงทุนในตลาดที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ จะมีองค์ประกอบทางพฤติกรรมที่มีความคล้ายคลึงกับการเล่นการพนันเป็นอย่างมาก ซึ่งนักลงทุนดังกล่าวมักจะให้นํ้าหนักความน่าจะเป็นของการได้รับผลตอบแทนที่สูงเกินจริง

 

นอกจากนี้ งานวิจัยฉบับดังกล่าวได้พบอีกว่า โดยสรุปแล้ว จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จำนวนครึ่งหนึ่งของนักลงทุนในคริปโทฯ เป็นผู้ที่ติดการซื้อขายเหรียญ (Pathological traders) และส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 18-25 ปีเท่านั้น โดยอาการดังกล่าวอาจประเมินได้ว่าเป็นโรคติดการพนัน

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับทิศทางในต่างประเทศ ประเทศเอลซัลวาดอร์ถือเป็นประเทศแรก ที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้สกุลเงินดิจิทัลในประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย (Legal tender) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564

 

ในส่วนของประเทศญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายคุ้มครองคริปโทฯ ให้เป็นสินทรัพย์ที่ถูกกฎหมาย แต่ข้อมูลในการซื้อขายเหรียญต่างๆ จะต้องได้รับการตรวจสอบโดยรัฐบาลญี่ปุ่น อีกทั้งในช่วงปลายปี 2560 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกกฎหมายกำหนดให้เงินได้ ในส่วนที่เป็นกำไรที่ได้จากการลงทุนในตลาดสกุลเงินดิจิทัล จัดเป็นเงินได้เบ็ดเตล็ด (Miscellaneous income) และต้องเสียภาษีให้กับภาครัฐ

 

ซึ่งถึงแม้ว่าการซื้อขายคริปโทฯ จะถูกกฎหมายในประเทศนี้ แต่ในช่วงแรกของมาตรการในการควบคุมและตรวจสอบทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการยังเป็นไปอย่างหละหลวม จึงนำไปสู่การขโมยข้อมูลและเงินในกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลมูลค่ากว่า 530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “Coincheck heist” ทำให้หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ออกกฎระเบียบในการควบคุมการซื้อขายและการให้บริการด้านสกุลเงินดิจิทัลที่เข้มงวดมากขึ้น

 

ในส่วนของประเทศเกาหลีใต้ กำหนดให้ผู้ใช้สามารถซื้อขายคริปโทฯ ในแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ตามปกติและไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่ยังไม่สามารถนำมาซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าปกติ รวมไปถึงการใช้ชำระหนี้สินตามกฎหมายได้

 

ถึงอย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ได้พิจารณาการออกกฎหมาย เพื่อควบคุมการใช้สกุลเงินดิจิทัลอย่างใกล้ชิด และวางแผนที่จะเก็บภาษีจากการซื้อขายภายในปี 2022

 

สำหรับในประเทศจีน รัฐบาลกลางมองว่า คริปโทฯ เป็นภัยคุกคามความมั่งคงของประเทศและได้ออกกฎหมายห้ามไม่ให้มีการซื้อขาย หรือ แม้กระทั่งการขุดเหรียญในประเทศโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ได้กำหนดโทษขั้นสูงสุดถึงการจำคุกเลยทีเดียว

 

แต่เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลประชาชนสูงสุดของจีนได้มีคำตัดสินให้ สกุลเงินดิจิทัล มีผลทางกฎหมาย และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งขัดกับคำสั่งของรัฐบาลจีนอย่างสิ้นเชิง และสำหรับกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ในฝั่งยุโรป ก็อนุญาตให้ประชาชนสามารถซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลได้อย่างถูกกฎหมาย แต่กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย รวมไปถึงมาตรการทางภาษีก็จะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ

 

สำหรับในประเทศไทย การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล ก็สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมายเช่นกัน โดยผู้ที่สนใจลงทุนจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ก่อน และจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการนำคริปโทฯ มาใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้า หรือ การชำระหนี้นั้น ยังไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลไทย ทั้งนี้เนื่องมาจากความเสี่ยงทางด้านการโจรกรรมข้อมูลและการฟอกเงิน รวมถึงความกังวลด้านความมั่งคงของมูลค่าคริปโทฯ (ซึ่งเห็นได้จากกรณีของเหรียญ LUNA ที่มูลค่าหายไปเกือบ 100% ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์) ซึ่งอาจจะสวนทางกับภาคเอกชนบางกลุ่มที่สนับสนุนการใช้ คริปโทฯ เพื่อการซื้อขายสินค้าและบริการต่างๆ

 

แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือ มาตรการทางภาษีและกฎหมายควบคุมที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลว่าจริงๆ แล้วจะออกมาในรูปแบบไหน ผู้อ่านก็คงต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิดนะคะ

 

โดยสรุป คริปโทเคอร์เรนซีอาจจะเป็นอนาคตของการถือสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ และถึงแม้ว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากความผันผวนของสกุลเงินดิจิตอล ที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคม ยังเป็นสิ่งที่ภาครัฐกังวลใจอย่างมาก

 

แต่ในบางสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดสงคราม การโจมตีค่าเงิน หรือความล้มเหลวของรัฐบาล ความผันผวนของมูลค่าสกุลเงินปกติ ก็ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจไม่แพ้กัน จึงทำให้รัฐบาล หรือ ประชาชนในบางประเทศกลับมีความมั่นใจในสกุลเงินดิจิทัลมากกว่าสกุลเงินหลักในประเทศของตนเองด้วยซํ้าไป

 

อย่างไรก็ดี ในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนมองว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ที่เลือกลงทุนในคริปโทฯ มักเกิดจากความต้องการแสวงหาผลกำไรปริมาณมากจากการลงทุนระยะสั้นในตลาดที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าว อาจมีความคล้ายคลึงกับการเล่นการพนัน

 

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจรูปแบบการใช้สกุลเงินดิจิทัลจากประเทศอื่นๆ พร้อมกับการออกกฎหมายควบคุม เพื่อลดความเสี่ยงแต่ละด้านที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ตลอดจนการกำกับดูแลพฤติกรรมของนักลงทุนให้มีความเหมาะสมต่อไป

 

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณปัญจพล สัตยานุรักษ์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยนาโงย่า ประเทศญี่ปุ่น สำหรับ การค้นคว้าและช่วยรวบรวมสำหรับการเขียนบทความนี้

 

อ้างอิง:

Sonkurt, H., & ALTINÖZ, A. (2021). Cryptocurrency investment: A safe venture or a new type of gambling?. Journal of Gambling Issues, 47. 

Brito, J., Shadab, H., & Castillo, A. (2014). Bitcoin financial regulation: Securities, derivatives, prediction markets, and gambling. Colum. Sci. & Tech. L. Rev., 16, 144.