ภาพรวมและทิศทางอนาคต สินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย

08 มิ.ย. 2565 | 11:53 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2565 | 18:53 น.
812

ภาพรวมและทิศทางอนาคต สินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,790 หน้า 5 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน 2565

ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเข้า สู่ขาลงอีกครั้งเมื่อราคา bitcoin ร่วงลงกว่า 50% จากจุดสูงสุดเมื่อ พ.ย. ปีที่แล้ว ประกอบกับวิกฤต Luna ที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนและคนอื่นๆ ที่เฝ้ามองตลาดนี้อยู่ วันนี้ผู้เขียนอยากชวนมามองภาพรวมของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และคาดการณ์ทิศทางอนาคตของสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยโดยดูจาก 5 ปัจจัยคือ (1) แนวโน้มของตลาด (2) ผู้เล่นในตลาด (3) สินทรัพย์ดิจิทัลและสิ่งที่เกี่ยวข้อง (4) การกำกับดูแล และ (5) ปัจจัยภายนอก

 

แนวโน้มของตลาด

 

จากข้อมูลและงานวิจัยของสำนัก งานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) พบว่าจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ศูนย์ซื้อขายฯในกำกับยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าราคา Bitcoin และ Cryptocurrencies อื่นๆ จะปรับตัวลงในช่วงปีนี้ โดยบัญชีส่วนใหญ่เป็นของบุคคลธรรมดาภายในประเทศ ที่ส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนเพื่อการเก็งกำไร ระยะสั้น นอกจากนี้งานวิจัยโดยตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ยังพบอีกว่าคนรุ่นใหม่มีความสนใจลงทุนใน Cryptocurrencies ค่อนข้างมาก ผู้เขียนมองว่า Trend นี้คงยังดำเนินต่อเนื่องไป แต่อัตราอาจจะชะลอลงบ้างในปีนี้เนื่องจากเป็นตลาดขาลงของ Cryptocurrencies

 

ผู้เล่นในตลาด

 

ผู้เล่นหลักประกอบด้วยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้ง 5 ประเภทที่ถูกกำกับโดย กล.ต. โดยส่วนใหญ่ผู้คนจะให้ความสนใจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) เช่น Bitkub, Zipmex, Satang, Upbit, etc.

 

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีบริษัทลูกของธนาคารที่กระโดดเข้ามาเล่นในสนามนี้แบบเต็มตัว เช่น Token X (บริษัทลูกของ SCBx ตัวอย่างผลงานคือ BNK Governance Token), Kubix (บริษัทลูกของ Kbank ตัวอย่างผลงานคือ Destiny Token), SCBS (บริษัทลูกของ SCBx น่าจะเตรียมให้บริการลูกค้าเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล นอกเหนือจากเรื่องหุ้นที่ปกติดูแลอยู่แล้ว)

 

และดีลที่ยังถูกจับตามอง คือ การประกาศซื้อหุ้น 51% ของ Bitkub Online โดย SCBx (ประกาศเมื่อ พ.ย. ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันเข้าใจว่ารอเรื่อง Due Diligence อยู่และยังไม่ Finalize) อีกผู้เล่นที่น่าสนใจคือ Gulf Binance ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Gulf กับ Binance (ปัจจุบันได้จัดตั้งบริษัทแล้ว และจะทำเรื่องขอใบอนุญาตจาก กลต. เร็วๆ นี้)

 

ภาพรวมและทิศทางอนาคต สินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย

 

 

นอกจากนี้ ตลท. ยังเตรียมพร้อมที่จะเปิด Thai Digital Asset Exchange (TDX) เพื่อเป็นตลาดรองรับการเสนอขายการซื้อขาย แลกเปลี่ยน โทเคนดิจิทัลในประเทศไทย โดยปัจจุบัน TDX ได้รับใบอนุญาตจาก กลต. แล้ว และพร้อมจะเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ปีนี้

 

ส่วนผู้เล่นอื่นๆ คือผู้เล่นที่ไม่ได้ถูกกำกับ (หรือยังไม่ได้ถูกกำกับ) โดย กลต. เช่น Coral (บริษัทลูกของ Kbank ให้บริการ NFT Marketplace) และผู้ประกอบการธุรกิจด้าน DeFi, Play-to-Earn และ Metaverse (บน Blockchain)

 

ที่ผ่านมามีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมายและตลาดเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว (มีข่าวเรื่องของดีลใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอๆ) ตลาดมีการแข่งขันค่อนข้างสูง เนื่องจากคนรุ่นใหม่มีความสนใจลงทุนในตลาดนี้ค่อนข้างมาก ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ อยากเข้ามาในตลาดนี้ (โดยเฉพาะผู้เล่นที่ไม่ได้ถูกกำกับโดย กลต. เพราะสามารถเข้ามาได้ง่าย)

 

อย่างไรก็ดี ความคึกคักของตลาดนี้ค่อนข้างขึ้นกับ Sentiment ของตลาด และราคา Cryptocurrencies ตัวหลักๆ เช่น Bitcoin ทำให้ช่วงนี้ตลาดนี้อาจจะซาๆลงบ้าง ผู้เขียนมองว่าความคึกคักคงลดลงไปช่วงนี้ และอาจมีผู้เล่น (โดยเฉพาะ ผู้เล่นรายเล็กๆ ที่ไม่ได้ถูกกำกับ) ล้มหายตายจากไปบ้าง แต่เมื่อไหร่ที่ราคา Bitcoin พุ่งขึ้นอีกตลาดนี้จะกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง

 

สินทรัพย์ดิจิทัลและสิ่งที่เกี่ยวข้อง

 

ปัจจุบันราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลและสิ่งอื่นๆ เช่น NFT ยังมีราคาที่ผันผวนและยากที่จะคาดการณ์ อย่างไรก็ดีหากมองตามหลักการ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภทที่มีสินทรัพย์อื่นอ้างอิง หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทที่สร้างขึ้นมาเพื่อระดมทุน ไม่ควรมีราคาที่ผันผวนมากนัก ราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ควรมี ความเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่อ้างอิง หรือความก้าวหน้าของโครงการที่มาระดมทุน แต่ปัจจุบันนี้หลายๆ ครั้งสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ยังมีราคาขึ้นลงตาม Sentiment ของตลาดมากกว่าพื้นฐานหรือหลักการที่ใช้สร้างสินทรัพย์เหล่านี้ขึ้นมา

 

ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีมีสินทรัพย์อื่นอ้างอิง หรือไม่มีความเกี่ยว ข้องกับโครงการใดๆ แน่นอนว่าไม่มีพื้นฐานในการคิดราคาที่ควรจะเป็น ราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้จะเป็นไปตาม Sentiment ตลาด

 

ที่ผ่านมาได้มีการสร้างเหรียญต่างๆ และ NFT ขึ้นมามากมาย นอกจากนี้ยังมี NFT ชนิดที่เป็นที่ดิน (Land) ใน Metaverse ที่ให้สิทธิ์เจ้าของที่ดินในการเปิดร้านใน Metaverse นั้นๆ ช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้

 

ผู้เขียนได้เห็น Business Model ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหรียญและ NFT มากมาย ผู้เขียนมองว่าตราบใดที่ยังมีโอกาสสร้างรายได้ในตลาดนี้จะต้องมีผู้คิด Business Model ใหม่ๆ หรือ สร้างเหรียญ และ NFT ที่มีคุณสมบัติใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็นหรือไม่เคยนึกถึงมาก่อนขึ้นมา เหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่าควรมีการกำกับดูแลสิ่งใดบ้างและอย่างไร

 

การกำกับดูแล

 

การกำกับดูแลตลาดที่มีความผันผวนสูง มีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงการมีผู้เล่นแบบใหม่ๆ รวมถึงเหรียญและบริการประเภทใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ผ่านมาได้มีการออกกฎกติกาเพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกณฑ์การควบคุมการโฆษณาชี้ชวน การไม่สนับสนุนการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เกณฑ์การเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า etc. 

 

ตามหลักการแล้วการกำกับดูแลมีความจำเป็น เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในวงกว้าง คุ้ม ครองผู้ลงทุน และรักษาความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของตลาด อย่างไรก็ดีด้วยลักษณะของตลาดที่มีมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและมีของใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา อาจจะไม่สามารถให้ทุกคนเห็นตรงกันได้ว่าการกำกับดูแลที่เหมาะสมควรเป็นเช่นไร ผู้เขียนมองว่ามันคงเป็นสนามที่ต้องเรียนรู้และลองผิดลองถูกไปด้วยกัน มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมเท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน

 

 

ปัจจัยภายนอก

 

ปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายของประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการที่อยู่นอกประเทศและนอกการกำกับดูแลแต่สามารถส่งผลกระทบกับตลาดในประเทศได้ นักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตลาดไทย เหล่านี้เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้และคาดการณ์ได้ยาก นอกจากนี้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นตลาดที่เปิดและมีความเชื่อมโยงภายนอกค่อนข้างมาก เมื่อเกิดอะไรขึ้นจะสามารถกระทบตลาดในประเทศได้อย่างรวดเร็ว